‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ 

06 ส.ค. 2563 | 02:30 น.

การนำ “นกแอร์” ตามรอย “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ นกแอร์ ยังคงมีสภาพคล่อง จากการหยุดพักชำระหนี้ ขณะที่ยังบินต่อ ระหว่างเดินแผนพลิกฟื้นธุรกิจ หลังจากที่ผ่านมา กลุ่ม "จุฬางกูร" หมดเงินไปกับ นกแอร์ แล้วร่วม 1.5 หมื่นล้านบาท 

    การที่กลุ่ม “จุฬางกูร” ตัดสินใจนำ “นกแอร์” ตามรอย “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลาง ได้รับคำร้องขอไว้พิจารณาแล้ว และจะนัดไต่สวน ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ นกแอร์ ยังคงมีสภาพคล่อง จากการหยุดพักชำระหนี้ สามารถสยายปีกบินต่อ ระหว่างเดินแผนพลิกฟื้นธุรกิจ หลังจากที่ผ่านมา กลุ่มจุฬางกูร ควักจ่ายเงินหมดไปกับ นกแอร์ แล้วร่วม 1.5 หมื่นล้านบาท 

‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ 

เพิ่มทุนกว่า 4 ครั้งยังไม่พอ 

    การเกิดขึ้นของ นกแอร์ นับแต่เริ่มต้นเมื่อปี2547 โดยมี “การบินไทย” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% เพื่อวางยุทธศาสตร์ให้ “นกแอร์ เป็นไฟลต์ติ้งแบรนด์ ในการดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ แข่งกับ “ไทยแอร์เอเชีย” โดยมี “พาที สารสิน” เข้ามานั่งเป็นซีอีโอ 

‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ 

     ในอดีตคู่แข่งน้อย การแข่งขันไม่รุนแรง ก็ทำให้ธุรกิจโกยกำไรได้ ซึ่งปีสุดท้ายที่ทำกำไร คือในปี2556 โดยมีกำไรถึง 1.06 พันล้านบาท  และ พาที สารสิน ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ตัวเอง และแบรนด์นกแอร์ ในฐานะสายการบินโลว์คอสต์ของคนไทย แม้ว่าการทำงานจะต่างคนต่างเดินกับการบินไทยมาโดยตลอด

    จนเกิดสายการบินใหม่ๆเข้ามาชิงเค้กเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ “ไทยไลอ้อนแอร์” เมื่อปี2556  ทำให้นับจากปี2557 เป็นต้นมา จากการแข่งขันรุนแรง รวมถึงการใช้สงครามราคา เป็นกลยุทธหลักในการดึงลูกค้า ส่งผลให้ นกแอร์ ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องทุกปี สวนทางกับไทยแอร์เอเชีย ที่ยังคงมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องทุกปี จากการขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ พาที สารสิน ถูกบีบจนต้องลุกจากเก้าอี้ซีอีโอนกแอร์ ไป เมื่อก.ย.ปี2560  ตั้ง ปิยะ ยอดมณี มาทำหน้าที่แทน ก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจกระเตื้องขึ้น จนท้ายที่สุดไหนๆ กลุ่มจุฬางกูร ก็คุมบังเหียนนกแอร์ เต็มตัว เลยส่ง “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” มานั่งซีอีโอนกแอร์ เมื่อเดือนมิ.ย.62

    การเข้ามาของกลุ่มจุฬางกูร ใน นกแอร์ เริ่มจากการทยอยเข้ามาซื้อหุ้นนกแอร์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯแต่นับจากปี2558 ถึงปัจจุบัน คาดกันว่ากลุ่มจุฬางกูร ควักจ่ายกับนกแอร์ ไปแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งเจ็บตัวจากการขาดทุนในหุ้นนกแอร์ การอัดฉีดเงินเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง จากปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมากว่า 1 หมื่นล้านบาท (ปี2557-2562)

    การเพิ่มทุน ซึ่งที่ผ่านมามีการขายหุ้นเพิ่มทุน ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อระดมทุนมาแล้วร่วม 4 ครั้งนับจากปี2560-2563  ครั้งแรกเมื่อพ.ค.2560 ได้เงินมา 1,220 ล้านบาท ครั้งที่ 2 เดือนต.ค.2560 ระดมทุน 1,700 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ในเดือนม.ค.62 ระดมทุน 2,300 ล้านบาท และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.63 ระดมทุนได้ 1,548.2 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันนกแอร์มีทุนจดทะเบียน 3,729 ล้านบาท 

    ทั้งนี้จากการที่ กลุ่มจุฬางกูร ถลำตัวเข้ามาแล้ว จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อการบินไทย เมินการเพิ่มทุน เลยกลายเป็นว่า กลุ่มจุฬางกูร ต้องบินเดี่ยวซื้อหุ้นเพิ่มทุน จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  ขณะที่ การบินไทย ปัจจุบันเหลือหุ้นอยู่เพียง 13.28% เท่านั้น อีกทั้งด้วยความที่ไม่มีเครดิต พอที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ก็ทำให้นับจากปี2561 ถึงปัจจุบัน นกแอร์ ก็จะใช้เงินกู้จาก “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” วงเงิน 3 พันล้านบาท เพื่อมาใช้เสริมสภาพคล่อง

ฟื้นฟูหยุดหนี้เครื่องบิน

    การขาดทุนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีทิศทางดีขึ้น เมื่อ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” มานั่งซีอีโอ นกแอร์ เมื่อเดือนมิ.ย.62 เพราะจากการเข้าไปกำกับดูแลเต็มตัว ก็ทำให้ผลประกอบการของนกแอร์ในปี2562 เริ่มขาดทุนลดลงจากปี2561  แต่ในปี2563 จากวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้แน่นอนว่าการขาดทุนปีนี้ปักโกรกแน่นอน 

     วันนี้แม้นกแอร์จะมีเงินเหลือจากการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ซึ่งนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน  ลดภาระหนี้สิน ปรับปรุงฝูงบิน รวมถึงการขยายเส้นทางและเครือข่ายบิน จากจำนวนเงินที่ได้รับ  มีการใช้ไประหว่างวันที่ 11 ก.พ-30 มิ.ย.63 จำนวน 798.80 ล้านบาท คงเหลือ ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 จำนวน 749.4 ล้านบาท ทั้งยังมีวงเงินกู้จาก หทัยรัตน์ จุฬางกูร วงเงิน  3 พันล. ที่ยังใช้ไม่หมด 

     แต่เงินก้อนนี้ ก็คงช่วยไม่ได้มาก เมื่อธุรกิจการเจอมรสุมหนักจากโควิด-19 มาร่วม 5 เดือนแล้ว และเมื่อรายได้ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการต้องชำระหนี้ไปพร้อมๆกัน การนำนกแอร์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มจุฬางกูร มองว่าเหมาะสมที่สุด หากยังต้องการประคองธุรกิจของนกแอร์ให้อยู่ต่อ ไม่ปล่อยมือทิ้งเหมือน “นกสกู๊ต”        

    “การตัดสินใจนำนกแอร์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นเพราะนับจากเดือนก.พ.เป็นต้นมา นกแอร์ ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวของบริษัทได้ โดยเฉพาะภาระค่าเช่าเครื่องบินที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ตอนนั้นรายได้ไม่เข้า เนื่องจากเป็นช่วงเคอร์ฟิวส์ และไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้ ทำให้เราเลือกที่จะเข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อถือโอกาสหยุดภาระหนี้ก่อน แล้วมาปรับโครงสร้างหนี้ และการทำแผนธุรกิจในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนกแอร์ ได้ให้ทางบริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเซียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู” นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร กล่าว

    ทั้งยังยืนยันด้วยว่ากลุ่มจุฬางกูร ยังคงยืนยันที่จะสนับสนุนนกแอร์ ให้ยังคงดำเนินธุรกิจการบินต่อไป เพื่อรักษานกแอร์ ที่เป็นสายการบินของไทย ให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป และยังมองเห็นอนาคตของนกแอร์อยู่ เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 จะเห็นว่าสายการบินคู่แข่งมีการทยอยคืนเครื่องบินออกไปเป็นจำนวนมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สายการบินดิ้น บี้ลดต้นทุนเพิ่ม ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์
ศาลล้มละลายกลาง รับฟื้นฟู นกเเอร์ ติดหนี้ 2.6หมื่นล้านบาท
นกแอร์ ยันยังบินปกติ แจง 5 ประเด็น ยื่น ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง
“นกแอร์” ทวงหนี้ ส.ส.-อดีต ส.ส. ค้างค่าตั๋วเครื่องบินกว่า 3.5 ล้าน

 

      ขณะที่การแข่งขันด้านราคาก็ลดลงอย่างมาก  อีกทั้งนกแอร์ ไม่ได้มีภาระต้นทุนที่สูงมาก เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ทั้ง 24 ลำล้วนเป็นเครื่องบินเช่า นอกจากนี้ที่ผ่านมานกแอร์ ได้แก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนอยู่เดิม คือ เรื่องของการดีเลย์ โดยลงทุนไปกว่า 200 ล้านบาทในการสต็อกอะไหล่เครื่องบินไว้ที่สนามบินดอนเมือง และกลุ่มข้าราชการ ก็ใช้บริการของนกแอร์เพิ่มมากขึ้น จึงยังมองเห็นอนาคต

วุฒิภูมิ  จุฬางกูร

 

     นกแอร์อยู่ ซึ่งปัจจุบันนกแอร์มีสินทรัพย์อยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท มีภาระหนี้อยู่ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องบินที่จะหมดสัญญาเช่าในอีก 7 ปี ที่นำเอาหนี้ในอนาคตมาคำนวณด้วย

    ดังนั้นการฟื้นฟูกิจการที่จะเกิดขึ้นของนกแอร์ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น การบริหารจัดการกิจการของลูกค้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟู เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
     การฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จึงเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ ของกลุ่มจุฬางกูร ใน นกแอร์ 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563