KKP ห่วงถ้าคนตกงานเพิ่มครึ่งปีหลัง-อาจฉุดลูกหนี้ดี 65-70%ชำระหนี้ไม่ได้-เร่งลูกหนี้ติดต่อธนาคารก่อนครบกำหนดเดือนต.ค.

30 ก.ค. 2563 | 20:30 น.

KKP เข้มสินเชื่อเน้นมีหลักประกัน- ห่วงครึ่งปีหลังถ้าคนตกงานเพิ่ม-ฉุดลูกหนี้ดี 65-70%ชำระหนี้ไม่ได้-เร่งลูกหนี้ติดต่อธนาคารก่อนครบมาตรการเดือนต.ค. หวังกดเอ็นพีแอลต่ำกว่า 3.9%

KKP โฟกัสสินเชื่อมีหลักประกัน-คงเป้าโต 7-9% เผยครึ่งปีหลัง ห่วงถ้าคนตกงานเพิ่ม-อาจฉุดลูกหนี้ดี 65-70%ชำระหนี้ไม่ได้-เร่งลูกหนี้ติดต่อธนาคารก่อนครบมาตรการพักชำระเดือนต.ค. หวังกดเอ็นพีแอลต่ำกว่า 3.9% 
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ครึ่งปีหลังของปี2563 ธนาคารเกียรตินาคินยังคงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อ 7-9% จากครึ่งปีสามารถทำได้ 5%ส่วนใหญ่เกิดจากหนี้พักชำระตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ซึ่งจะครบกำหนดเดือนตุลาคม 2563 โดยปรับอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE)เป็น 10% หลังครึ่งปีทำได้ 11%จากเป้าทั้งปีกำหนดไว้ 13-15% ส่วนต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2.5% เนื่องจากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.32%จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 1.40-1.60%  พร้อมปรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อเป็น 5-5.2% หลังจากครึ่งปีแรกสามารถทำได้ 5.7%จากเป้าทั้งปีเดิมอยู่ที่ 4.6-4.8%
“ ครึ่งปีหลังยังมีเรื่องต้องระมัดระวัง ทั้งปัจจัยมาตรฐานบัญชีTFRS9และหลังโควิดแบงก์ชาติให้ดำเนินการจัดชั้นหนี้และกันสำรองไม่เป็นไปตามปกติเพื่อชะลอผลกระทบแต่แบงก์ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในช่วงที่เหลือ โดยเฉพาะการเน้นช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะครบกำหนดพักชำระเดือนต.ค.เพื่อให้อยู่รอดได้  แต่จากแนวโน้มผลกระทบต่อบางเซ็กเตอร์ ซึ่งถ้ามีคนตกงานเพิ่มอาจทำให้ลูกหนี้ดี 65-70%ในกลุ่มที่พักชำระอาจจะกลับมาชำระหนี้ไม่ได้”
 

สำหรับครึ่งปีแรกนั้น ธนาคารออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและร่วมกับมาตรการของธปท.ทั้งพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้คิดเป็น 40%ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ 2.5แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อรายย่อย 30%และสินเชื่อธุรกิจ 10% ซึ่งดูจากพฤติกรรมกลุ่มพักชำระหนี้มี 65-70%เป็นลูกหนี้ดีแต่เข้าโครงการพักชำระหนี้ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เข้าโครงการนี้ก็มีPerformanceดีขึ้นมาก  แต่ในส่วนของสินเชื่อที่เติบโต 5%นั้นจริงๆธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่น้อยลงมาก แต่ยอดคงค้างสินเชื่อไม่ได้ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากมาตรการพักชำระหนี้  
“ไตรมาสสองโควิดกระทบเต็มทั้งไตรมาส แต่ผลประกอบการเรายอมรับได้แม้จะหลอกตา  แต่ก็มีธุรกิจตลาดทุนเข้ามาเสริม  และหากพิจารณาสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ในระดับ5.7แสนล้านบาทโดยไม่ได้ปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความหลากหลายของธุรกิจทำให้ธนาคารใช้ศักยภาพของกลุ่มได้อย่างเต็มที่โดยครึ่งปีหลังแม้ธุรกรรมดังกล่าวไม่ดีเท่าเดิมแต่คาดว่าสินเชื่อรีเทลยังขยายตัวได้”

สอดคล้องกับนายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ครึ่งปีหลังธนาคารยังระมัดระวัง นอกจากเน้นคุณภาพสินเชื่อที่มีหลักประกันแล้ว ยังให้น้ำหนักต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการมีรายได้ที่แน่นอนต่อเนื่องทุกเดือนหรือกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่เหมาะสม  เช่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ อาจจะมีการปรับตามสถานการณ์และการแข่งขัน เช่น  เดิมกำหนดวางเงินดาวน์ที่ 5% อาจปรับเป็น 10%  ส่วนกลุ่มที่มีรายได้แน่นอนทุกเดือนยังคงสัดส่วนหรือวงเงินสินเชื่อโดยไม่ปรับลด แต่หากเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว  อาจพิจารณาปรับลดสัดส่วนหรืองเงินให้สินเชื่อ 80% หรือกลุ่มรีเทลที่มีรายได้ไม่แน่นอนอาจปรับลด 50%  นอกจากนี้ธนาคารมุ่งทำงานใกล้ชิดทั้งดีลเลอร์และลูกค้า    เช่น ขยายฐานลูกค้าที่มีเครดิตดีกับค่ายรถยนต์บางยี่ห้ออย่างต่อเนื่อง 
    ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน  ธนาคารเกียรตินาคินระบุว่า ที่ผ่านมา ครึ่งปีแรก 2563  ภาพรวมธุรกิจธนาคารสินเชื่อขยายตัว 5%ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ที่ลูกหนี้คืนเงินต้นน้อย  กลุ่มธุรกิจฯ มีกําไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,668 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 1.1% จากงวดเดียวกันของปี 2562 เป็นกําไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดําเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จํากัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จํานวน 775 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 7,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน  ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7%  จากงวดเดียวกันของปีก่อน  และรายได้อื่น 1,133 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 10,446  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากงวดเดียวกันของปี 2562 ส่วนเอ็นพีแอลไตรมาสสอง อยู่ที่ 3.4% ปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 4.0% ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คํานวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งหากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 จะอยู่ที่  17.76% โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.7%