อาเซียน “ผู้ต้องขังหญิง” ล้นคุก มีจำนวนมากที่สุดในโลก 

30 ก.ค. 2563 | 13:56 น.

งานวิจัยเผย อาเซียนมีอัตราผู้ต้องขังหญิงสูงสุดในโลก คดียาเสพติดกว่า 80% เหตุเกี่ยวข้องปัญหาสังคม ความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว ด้านนักวิชาการหนุนเร่งบำบัดฟื้นฟูสร้างชีวิตใหม่ ลดทำผิดซ้ำ

ร็อบ อัลเลน นักวิจัยอิสระ เปิดเผยถึงผลวิจัยเรื่องการส่งต่อผู้ต้องขังหญิงคืนสู่สังคม (Social reintegration) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาว พม่า สิงคโปร์ และไทย มีอัตราการจำคุกในเพศหญิงต่อจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดมากที่สุดในโลก คิดเป็น 10% ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด โดย 4 ใน 5 ของการกระทำผิดของผู้ต้องขังหญิงในไทยและอินโดนีเซียมีมูลเหตุของการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ซึ่งมาจากปัญหาความยากจน ต้องการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งการแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำนั้น จำเป็นต้องมองปัญหาตั้งแต่ต้นตอจนถึงแนวทางแก้ ไม่เพียงแค่การศึกษาเหตุจูงใจในการกระทำผิด แต่ยังควรคำนึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษอย่างมีคุณภาพ 

อาเซียน “ผู้ต้องขังหญิง” ล้นคุก มีจำนวนมากที่สุดในโลก 

มิวเรียล จอร์แดน เอธวินยอน เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแห่ง UNODC กล่าวว่า กระบวนการบำบัดฟื้นฟูก่อนส่งคืนผู้ต้องขังสู่สังคมเป็นขั้นตอนที่มีข้อผูกพันกับกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ ทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีด้านสิทธิมนุษยชน ข้อกำหนดเนลสันเเมนเดลลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง รวมถึงข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดของสหประชาชาติว่าการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง

ไอชยา ยูลีอานี เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการความยุติธรรมอาญา UNODC กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาก่อนพ้นโทษ ผู้ต้องขังหญิงของอินโดนีเซียจะได้การสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ เช่น การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต การบำบัดการติดบุหรี่ การได้รับโอกาสในการพบเจอสมาชิกในครอบครัว


ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIJ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์พบว่า ประเทศไทยมีนักโทษประมาณ 380,000 ราย เป็นผู้ต้องขังหญิงราว 48,000 ราย คิดเป็น 12.6% มีอายุเฉลี่ยที่ 34 ปี ส่วนใหญ่ได้รับโทษจำคุก 2-5 ปี (44%) ตามด้วย 5-10 ปี (18%) และ 20-50 ปี (10%) นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจากคดียาเสพติดคิดเป็น 83% ตามด้วยคดีลักทรัพย์ 10.3% และคดีประทุษร้ายทำร้ายร่างกาย 1.4% ในแง่ของการศึกษา ผู้ต้องขังหญิงถึง 2 ใน 3 ได้รับการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 80% ของผู้ต้องขังอยู่ในสถานะ “แม่”

อาเซียน “ผู้ต้องขังหญิง” ล้นคุก มีจำนวนมากที่สุดในโลก 

อัตราการกระทำผิดซ้ำมีสูงถึง 34% ในกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษไปแล้ว 3 ปี ตามด้วยผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว 2 ปี (26%) และผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว 1 ปี (14.5%) ซึ่งอัตราการกระทำผิดซ้ำนั้นมีสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1. ขาดการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากปัญหานักโทษล้นคุก 2. ปัญหาที่ประสบหลังพ้นโทษ เช่น การถูกตีตราจากสังคม ความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ปัญหาว่างงาน ครอบครัวแตกแยก และปัญหาที่อยู่อาศัย

สำหรับประเทศไทย มีความพยายามในการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำหลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น การจัดให้มีโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิงก่อนส่งคืนสู่สังคม การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ หรือ ศูนย์ CARE โดยกรมราชทัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังให้มีงานทำ สอดคล้องกับภูมิหลังหรือวิถีชีวิตจริงนอกเรือนจำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ เมื่อต้นปี รัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนการจ้างงานผู้ต้องขังหลังพ้นโทษของภาคธุรกิจและกิจการเพื่อสังคมผ่านมาตรการภาษี

 

ขณะเดียวกัน TIJ ยังได้ส่งเสริมรูปแบบความร่วมมือในรูปแบบภาคีพันธมิตรทางสังคม (Social partnership model) ซึ่งได้ทดลองนำร่องใช้แล้วที่เรือนจำกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยให้การอบรมแก่ผู้ต้องขังหญิงจำนวน 34 ราย 250 ชั่วโมง ในระยะเวลา 3 เดือนก่อนพ้นโทษ อย่างไรก็ตามในช่วงโควิด-19 ทำให้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูและคืนผู้ต้องขังคืนสู่สังคมชะงัก และการให้ความรู้ การฝึกอาชีพต้องยกเลิกกลางคัน ทำให้ไม่สามารถสร้างความมั่นใจคุณภาพชีวิตหลังพ้นโทษของผู้ต้องขังได้