กินโรงไฟฟ้าชุมชนกัน ใช่มั้ย ตาอยู่ “ไพรินทร์” ถึงคว้าพลังงาน

17 ก.ค. 2563 | 11:50 น.

กินโรงไฟฟ้าชุมชนกัน ใช่มั้ย ตาอยู่ “ไพรินทร์” ถึงคว้าพลังงาน : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3593 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.63 โดย... พรานบุญ

กินโรงไฟฟ้าชุมชนกัน ใช่มั้ย!

ตาอยู่“ไพรินทร์”ถึงคว้าพลังงาน

 

     สนั่นทั้งห้าแยกลาดพร้าวไปจรดเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เมื่อปรากฏข่าวที่เชื่อถือได้จากทำเนียบรัฐบาลว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ของรัฐบาล ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบนี้ ที่ 4 กุมาร “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์-สุวิทย์ เมษิณทรีย์-กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ลาออกจากรัฐมนตรี ท่ากลางการแย่งชามข้าวเพื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกันหนักหน่วงในพรรคแกนนำรัฐบาล
 

     ส.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เถ้าแก่ใหญ่ในค่าย สามมิตรจับจอง พร้อมสละเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม ที่มีงบประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท เพื่อไปนั่งเป็นรัฐมนตรีพลังงานที่มีงบประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท
 

     ส.สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ผู้ทุ่มเทแรงกายทรัพย์สินให้เป็นที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ก็พร้อมสู้ตายเพื่อคว้าเก้าอี้รัฐมนตรีตัวนี้ ขนาดยื่นเงื่อนไขขอสละตำแหน่ง รมช.คลัง ให้กับ “เสี่ยแฮงค์ อนุชา นาคาศัย” เลขาธิการพรรค ผู้พลาดหวังเก้าอี้รัฐมนตรีรอบที่แล้วมาเป็น รมต.ป้ายแดงตัวใหญ่แทนที่ไปเลย

     เสี่ยตั้น- ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ผู้เคยเป็นตัวเต็งมาตั้งแต่รอบแรก อยากทำงานด้านความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศสายใจแทบขาด อยู่กระทรวงศึกษาธิการ ได้งบประมาณอันดับ 2 ตกปีละ 358,361 ล้านบาท แต่ยังไม่สนใจ ขอสลับเก้าอี้มาบัญชาการที่กระทรวงพลังงานดีกว่า
 

     แต่ฝันของนักเลือกตั้งกลับสลาย เมื่อสายข่าวในทำเนียบส่งซิกว่า นายกฯลุงตู่ตัดสินใจผ่าทางตันในการแย่งชามข้าวกันของบรรดานักเลือกตั้ง ด้วยการส่ง "ดร.ไพรินทร์”ชูโชติถาวร” อดีต รมช.คมนาคม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.มานั่งเป็นรัฐมนตรีพลังงาน เพื่อสงบศึกสงครามชิงชามข้าวด้านพลังงานเสียนี่
 

     นังบ่างที่ติดตามปรากฎการณ์นี้มาตั้งแต่ต้นจึงตะโกนร้องเพลง “ตาอยู่” ของอัสนี-วสันต์ โชติกุล ดังสนั่นไปทั้งป่าคอนกรีต
 

     “หัวอก ฉันแทบสลาย เมื่อเจอะวายร้าย ที่ชื่อตาอยู่
 

     แกโผล่ เมื่อไหร่ไม่รู้ อยู่อยู่ มาคว้า คนงามขวัญใจ
 

     ความฝัน ทลายลงสิ้น ได้ยินแล้ว เป็นตาหน่าย
 

     แกย่อง มาหยิบ เอาไป เมื่อตอนสุดท้าย ไม่อายบ้างเลย
 

     เหลือแต่ ก็แค่ หางปลา ติดบน ข้างฝา แปะไว้ประจำ
 

     โมโห ตาอยู่ แว่นดำ เจ้าของมือที่สาม ที่คอยตามเรื่อยมา
 

     แล้วเธอก็ไป กับเขา เธอไป กับเขา ไม่เอาใจใส่
 

     ใครเจอะ ตาอยู่ ที่ไหน ช่วยบอกเอาไว้ มีใครเขาเคือง”
 

     “ตาอยู่”เอาไปกินกลายเป็นประเด็นร้อนที่บรรดานักเลือกตั้งในพรรคพลังประชารัฐ รวมพลังต้าน เพราะอุตส่าห์กดดันนำไปสู่การปรับเปลี่ยน 4 กุมาร” ออกจากเก้าอี้สำเร็จ แต่พอเสร็จศึกกลับมี ม.ค.ป.ด.เสียนี่
 

     พรานไปสืบเสาะมาว่า เหตุไฉนใครๆ จึงอยากได้เก้าอี้รัฐมนตรีพลังงานไปครอบครอบ พบว่า กระทรวงนี้เสมือนเป็นแก้วสารพัดนึก ที่สามารถรังสรรค์ให้ผู้เป็นเสนาบดีมีพลังกายที่พอง พลังงานที่เต็มเปี่ยม พลัง...ที่มากโข
 

     เนื่องจากเป็นกระทรวงเดียวที่สามารถสร้างนโยบายขึ้นมาแล้ว “มีของ”
 

     ประมูลปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบ 23 ที่ค้างคามายาวนานนั้น ใครได้ไปผลประโยชน์ตอบแทนก้อนมหึมา ขนาดว่าประมูลแหล่งบงกช เอราวัณ 2 แปลงยาว 20 ปี นั้นมีผลประโยชน์ร่วม 2.1 ล้านล้านบาท แล้วถ้าประมูลรอบใหม่ คุณคิดว่า เท่าไหร่...หึหึ เจ็บปาก...ไม่พูดมาก
 

     ประมูลรื้อถอนแท่นขุดเจาะที่ลงเสาเข็มขุดฟห้าปิโตรเลียม น้ำมันในอ่าวไทยนั้น ใครได้ไป เงินเป็นหมื่นล้านบาท...ค่ารื้อถอนแท่นละร่วม 100-200 ล้านดอลล่าร์เชียวพี่น้องเอ๋ยตจะเล่าให้ฟัง

     นโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาในระบบปี 2563–2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ นำร่อง 100 ชุมชน ราว 700 เมกะวัตต์ อันนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนยิ่งกว่าขุมทรัพย์ที่เป็นทองคำ เพราะใครได้ใบอนุญาตไปได้”กินยาว”
 

     โรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนฐานรากจึงเป็นที่หมายปองของผู้นำในท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ ที่ใครทำได้ 1 โครงการ ชาวบ้าน และตัวข้าอยู่สบายไปตลาดชาติ
 

     เพราะอะไรนะหรือขอรับ เพราะโครงการนี้จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ใน 2 ประเภท  1.โครงการ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ
 

     2.โครงการทั่วไปเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป
 

     ทั้ง 2 รูปแบบมีเงื่อนไขดังนี้ 1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) ถือหุ้นในสัดส่วน 60–90%
 

     2.ต้องมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คือ มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยในสัดส่วน 10–40% และต้องเป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40% และต้องมีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ไปให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นด้วย
 

     เงินก็ได้ งานก็ได้ ชุมชนก็ได้ คะแนนเสียงก็ได้ สบายอุรา
 

     เงินได้อย่างไร เขากำหนดอัตราแบ่งรายได้ของโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 ส.ต.ต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮบริด ไม่ต่ำกว่า 50 ส.ต.ต่อหน่วย
 

     อัตรารับซื้อไฟฟ้า ถ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ 4.8482 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.2636 บาทต่อหน่วย,ก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสีย-ของเสีย 3.76 บาทต่อหน่วย ,ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 5.3725 บาท และก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย-ของเสีย 4.7269 บาทต่อหน่วย
 

     โครงการนี้เขาว่ากันว่าจะนำไปสู่การลงทุนในระดับชุมชนไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาทเชียวพ่อแก้วแม่แก้วเอ๋ย!
 

     เสียงป้องปากซุบซิบจึงดังสนั่นไปถึงหูนายกฯลุงตู่ว่า “ลูกน้องของขาใหญ่” ประกาศตั้งโต๊ะจัดสรรการขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนกันสนั่น 2-3 คน
 

     นังบ่างบอกว่า ...มือดีคนแรก เป็น “นาย อ.” ผู้เป็นทายาทนักการเมืองภาคกลาง คนนี้ไม่ได้เป็นส.ส. แต่มีตำแหน่งใหญ่ไม่เบา อธิบดียังเป็นลูกน้อง มือดีคนที่สอง ชื่อ “นาย ย.” เป็นใครก็ไม่รู้ รู้ว่าเป็นหน้าใหม่เอามากๆแต่บังอาจฟาดของใหญ่
 

     ทั้งสองคนประกาศชัดว่า การจัดสรรใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนให้มาขอกันที่นี่รับประกันซ่อมฟรี มีใบอนุญาต อย่าไปหารัฐมนตรีให้เมื่อยตุ้มเลย เรียกเงินกันโฉ่งฉ่าง”เมกฯละ 1.5-2 ล้าน” ดังสนั่นไปทั่ว จนเข้าหูนายกรัฐมนตรีลุงตู่ ขนาดพูดในที่ประชุม ครม.ว่าการประมูลไฟฟ้า 700 เมกกะวัตต์นี่ทำไมใครๆถึงอยากได้
 

     ลุงตู่ดั๊นเข้าหูผิดคิดว่า “ทีมสนธิรัตน์” ตั้งโต๊ะ ที่ไหนได้ มือดีที่ตั้งโต๊ะดั๊นเป็น “คนมีพวกในพรรคการเมือง” เสียนี่...เขาถึงว่าอย่าหูเบา
 

     ตั้งโต๊ะฟาดกันแบบนี้อย่าคิดว่าไม่มีใครจ่ายนะครับ เขายอมกันทั้งนั้นแหละครับนาย เพราะอะไร เพราะรายได้จากการสร้างโรงไฟฟ้าแล้วขายออกไปนั้นมันกินยาวหลายชั่วอายุคน
 

     คนในกระทรวงพลังงานบอกพ่อพรานฯมาว่า ถ้าผลิตแค่ 3 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 600  ล้านบาท จะสร้างรายได้ 25-30 ล้านบาท/ปี สัญญาโรงไฟฟ้านี่ตกประมาณ 15-20 ปี สบายอุรา
 

     ถ้าจ่าย 15-20 ล้านบาท รายได้กินยาว 15-20 ปี ขนาดนี้ ใครๆ ก็อยากจ่าย ขอแค่ได้ใบอนุญาตเถอะขอรับ!
 

     นี่จึงเป็นที่มาของการตัดไฟแต่ต้นลม ว่าจะมีการส่ง “ตาอยู่-ไพรินทร์” เข้าไปนั่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพลังงาน...เพื่อสกัดการตั้งโต๊ะกินใบอนุญาตและสร้างอาณาจักรโรงไฟฟ้าของกลุ่มการเมือง เงิบกันไปทั้งบางเชียวแหละ!