“NEA” เปิดไอเดีย “สร้างสรรค์เพื่อส่งออก” นิยามใหม่ที่ต้องรู้

11 ก.ค. 2563 | 06:25 น.

“เอ็นอีเอ” เปิดไอเดีย “สร้างสรรค์เพื่อส่งออก” นิยามใหม่ที่ต้องรู้ พร้อมอินไซด์ 3 โมเดลการคิดเพื่ออนาคตจาก “คฑาทอง ทองใหญ่”

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการกรค้ายุคใหม่ หรือ “เอ็นอีเอ” (NEAกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยแพร่บทความ โดยระบุว่า ธุรกิจการค้าของประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เคยได้เปรียบในเรื่องของการผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ และแรงงานที่ราคาถูก แต่ปัจจุบันมีการแข่งขันของคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการแข่งขันในด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่การค้ายุคใหม่ที่แข่งขันกันด้วยองค์ประกอบในหลากหลายด้าน อาทิ การออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ ออกแบบแพคเกจจิ้ง การสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า

รวมถึงการทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญในอันดับต้นๆ เพราะหากมีการออกแบบสินค้าให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จดจำได้ง่าย ดึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ และนำมาสื่อสารเรื่องราวตั้งแต่กระบวนการผลิต หรือแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้านั้นๆ ให้สูงขึ้น ก็จะสามารถทำรายได้ให้กับธุรกิจเพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน

“NEA” เปิดไอเดีย “สร้างสรรค์เพื่อส่งออก” นิยามใหม่ที่ต้องรู้

เพื่อให้ผู้ทำธุรกิจหันมาใส่ใจกับการออกแบบเพิ่มมากขึ้น NEA จะพาไปรู้จักกับคำว่า การมองอนาคตเรื่องการออกแบบของธุรกิจ หรือ Design Foresight ซึ่งเป็นการมองอนาคตผ่านกระบวนการออกแบบและคิดสร้างสรรค์ให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าสู่สากล (Brand) 

นายคฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การมองอนาคตเรื่องการออกแบบเป็นเรื่องจำเป็นที่หลาย ๆ ธุรกิจจำเป็นต้องทำเพราะการมองเห็นเทรนด์ผู้บริโภค และการมองเห็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า จะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดพฤติกรรมของลูกค้า และสร้างความน่าจดจำได้ง่ายขึ้น  ทั้งนี้ กระบวนการของ Design Foresight จะแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ๆ ที่สำคัญ ได้แก่

1. การคิดอย่างมีมิติ ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสินค้าอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งการออกแบบต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Form & Function หรือรูปแบบและประโยชน์ในการสอยของสินค้าให้มากที่สุด โดยจะต้องเน้นสร้างสินค้าที่มีรูปทรงและสีสันที่แตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างของผลิตภัณฑ์ ต้องค้นหาจุดเด่นของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เจอ และนำมาเป็นจุดเด่นในการขายและการส่งออก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องมองทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพราะการส่งออกเป็นตลาดที่กว้างและมีคู่แข่งมากกว่าที่ยากจะคาดเดา

2. การคิดเชิงนวัตกรรม สินค้าที่ขายต้องสามารถสร้างความแตกต่างโดยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ดีและแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค และเมื่อได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดดังกล่าวแล้ว ต่อจากนั้นคือการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อขยายช่องทางในการขยายตลาด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบันสามารถลอกเลียนแบบกันได้  แต่การพัฒนานวัตกรรมรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เลียนแบบกันได้ยาก และยังช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการสามารถเข้าตลาดได้ก่อน  และอยู่ในใจลูกค้าได้ตลอดไปอีกด้วย

“NEA” เปิดไอเดีย “สร้างสรรค์เพื่อส่งออก” นิยามใหม่ที่ต้องรู้

3. การสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสร้างเรื่องราวและที่มาของสินค้าให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปเปรียบเทียบกับร้านที่ขายสินค้าคล้ายๆ กัน โดยการสร้างแบรนด์จะต้องมีเรื่องราวน่าสนใจมากพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้สามารถตัดสินใจซื้อ โดยจะต้องเริ่มจากการสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ หรือ การค่อยๆ เริ่มสร้างประสบการณ์ที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภคได้เข้ามาสัมผัสตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการการผลิต ให้ลูกค้ารับรู้ถึงการผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง กระบวนการผลิตที่ดีกว่าคู่แข่ง ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและหาข้อมูล ทำความรู้จักกับตลาดสินค้าของตนเอง มีข้อมูลช่องทางการขาย ข้อมูลวัตถุดิบ กระบวนการบริโภค กระบวนการการผลิต จึงจะสามารถนำเสนอสินค้าที่แตกต่างมากพอจะดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้สินค้านั้นโดนใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้น นั่นก็คือ การสร้าง story หรือการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้ถูกยัดเยียดให้ซื้อสินค้าจนเกินไป กลับกัน ผู้บริโภคอาจได้เรียนรู้เรื่องราวจากสินค้าบางอย่างในสิ่งที่อาจคาดไม่ถึงก็ได้ ตั้งแต่ที่มาของแหล่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ผู้ผลิต ตลอดจนความเชื่อของลูกค้า จะเห็นได้ว่า มูลค่าของสินค้าจะเพิ่มขึ้นตามความน่าสนใจและเรื่องราวที่เราสร้างลงไปให้กับสินค้าดังกล่าว”

นอกเหนือจากนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทุกองค์กรและภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการนำเอานวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการเกิดการพัฒนาทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ ตอบโจทย์การใช้งาน และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อให้เกิดความพึงพอใจได้มากที่สุด ซึ่งเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีด้านการผลิต และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นองค์ประกอบ ตลอดจน 3 ด้านหลักข้างต้น นำมาประยุกต์ใช้และปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์สินค้าให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในที่สุดมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น และช่วยให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัว