ผู้ว่ารฟท.ป้ายแดง สั่งลุยทางคู่-งัดที่ดินรอบสถานี สร้างรายได้

10 ก.ค. 2563 | 02:45 น.

จากอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย และเลขานุการธนาคารกรุงไทย ที่ข้ามห้วยมาคว้าตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนนอกล่าสุดได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานขององค์กรในอนาคต ว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มจากการลงพื้นที่ดูงาน รวมถึงปัญหาที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของประชาชนที่มีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของรฟท. ทั้งนี้ได้มีมาตรการดูแลเตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชนผู้มาใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่ารฟท.ป้ายแดง สั่งลุยทางคู่-งัดที่ดินรอบสถานี สร้างรายได้

ขับเคลื่อน 3 ด้าน

1.การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี 2570 โดยการกำกับงานโครงการรถไฟทางคู่ เฟส1 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมถึงแผนงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟส 2 ให้มีความต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนาดใหญ่ เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถานีแม่น้ำ และสถานีมักกะสัน ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

2.การเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย

โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้ทั้งธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารและธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น ที่ดินของการของ รฟท.เพื่อสร้างรายได้และประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยมีการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบแผนที่ (GIS) เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ดินทั้งหมด จะได้นำมา    สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กรได้ต่อไป นอกจากนี้ในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่นั้น ได้มีนโยบายที่จะวางแนวทางการจัดระเบียบผู้เช่าให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการควบคุมแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกที่ดินรถไฟฯ รวมถึงการสร้างรายได้เสริมให้การรถไฟฯ จากสินทรัพย์ที่ไม่อยู่ในสภาพใช้งาน เช่น ซากสิ่งของเหลือใช้ ตู้รถไฟเก่าหมอนไม้ เศษเหล็ก เป็นต้น ขณะที่การลดค่าใช้จ่าย และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงาน และบูรณาการข้อมูลจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของการรถไฟฯอีกทาง

3.การขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการพัฒนาองค์กรและการจัดการให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ การพัฒนาความรู้ ความสามารถของบุคลากร เพื่อให้มีศักยภาพตรงตาม Competency ที่รฟท.ต้องการ และการ Reskill & Upskill พนักงาน โดยมีส่วนสำคัญคือ การรักษาองค์ความรู้ โดยการสร้างระบบถ่ายทอดและเก็บรักษาองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น (Knowledge anagement) นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ลุยปรับโครงสร้างที่ดิน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า การปรับปรุงโครงสร้างบริหารที่ดินการรถไฟฯให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยมีแนวทางจัดระเบียบผู้เช่าให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกที่ดิน โดยแผนการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลสัญญาเช่าที่ดินพบว่ามีที่ดินรวมประมาณ 2 หมื่นไร่ แต่สร้างรายได้เข้าองค์กรเพียงปีละ 2 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับประสิทธิภาพที่ดินที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

ด้านแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟตามหัวเมือง (TOD) อาทิ สถานีรถไฟขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น เนื่องจากพบว่าสถานีรถไฟเหล่านี้ มีพื้นที่ใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ และจะสร้างรายได้ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Noncore Business) ให้กับองค์กรมากขึ้น อีกทั้งเพื่อผลักดันให้สถานีรถไฟกลายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) กลางเมือง

ชงรถไฟทางคู่ 2 สายใหม่

ขณะเดียวกันโครงการที่เร่งผลักดันให้เกิดภายในปีนี้ หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแบ่งสัญญาออกเป็น 3 สัญญา คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปีนี้ ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์ หลังจากนั้นจะประกาศเพื่อเปิดประมูลได้ภายในปีนี้เช่นเดียวกัน

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 เตรียมเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อให้มีการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาด้านการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 ให้รอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ระบบทางราง

“เราอยากเห็นรถไฟทางคู่ ทั้ง 7 เส้นทางเกิดขึ้นภายในปีนี้เหมือนกัน เพราะไม่อยากให้การเดินทางขาดเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างกัน ประกอบด้วย ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ช่วงชุมทาง จิระ-อุบลราชธานี ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์”

ดีเลย์ “สายสีแดง”

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ขณะนี้ติดปัญหาล่าช้า เนื่องจากเอกชนขอขยายเวลาในการก่อสร้าง อีก 500 วัน โดยบอร์ด รฟท.ได้อนุมัติให้ขยายเวลาในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว 87 วัน

ส่งผลให้การเปิดเดินรถล่าช้าออกไปให้บริการภายในเดือนพ.ค.2564 จากเดิมที่ต้องเปิดให้บริการภายในเดือนม.ค. 2564 ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาโครงการฯ เพื่ออนุมัติดำเนินการต่อไป หากครบ 500 วัน จะทำให้การเปิดเดินรถไฟสายสีแดงสามารถเปิดให้บริการพร้อมกับสถานีกลางบางซื่อ

ทั้งนี้การเดินรถไฟสายสีแดงนั้น เบื้องต้นอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะดำเนินการรูปแบบใด ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี)

“ยืนยันว่าสายสีแเดง ก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมให้บริการทันที ถึงแม้ว่าถ้าดำเนินการในรูปแบบพีพีพีไม่ทัน ในช่วงแรกจะให้ รฟท.เป็นผู้บริหารโครงการไปก่อนคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือนนี้”

คงต้องจับตาผู้ว่าการรฟท.ป้ายแดงว่าจะดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากสามารถผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ แต่ละโครงการได้สำเร็จ จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงแน่นอน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ผู้ว่ารฟท.ป้ายแดง สั่งลุยทางคู่-งัดที่ดินรอบสถานี สร้างรายได้