“นฤมล” เผยแรงงานอิสระ "ลงทะเบียนประกันสังคม" มาตรา40 ได้แล้ว

30 มิ.ย. 2563 | 00:13 น.

"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" เผยสำนักงานประกันสังคม ไฟเขียวให้แรงงานอิสระที่มีอายุเกิน 60 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปี สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2563

พลันที่ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ปรับปรุงกฎหมายใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอิสระหรือแรงงานอิสระที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ทำอาชีพอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบ  อันได้แก่ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ผู้ที่ขายของออนไลน์ และช่างก่อสร้าง ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ ประกันสังคมตามมาตรา 40 อายุ 60 ได้จากเดิมกำหนดหลักเกณฑ์ให้ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

เรื่องนี้มีคำยืนยันจาก นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สำนักงานประกันสังคม เปิดโอกาสให้แรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุเกิน 60 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป

สำหรับแรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุระหว่าง 60-65 ปี ที่ต้องการสมัครเป็น ผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 สามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นพี่/ จังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศที่สะดวก รวมถึงหน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม สมัครผ่านภายใต้เครือข่ายประกันสังคมสมัครด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th โทรศัพท์สายด่วน 1506

สำหรับประกันสังคมขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา40 เป็น 65 ปี โดยกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.63 มีดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ70 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลาพ กรณีตาย

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลาพ กรณีตายและกรณีชรภาพ

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และ กรณีสงเคราะห์บุตร