สนพ.เร่งตั้ง NEIC ดันสู่องค์กรอิสระ ตอบโจทย์พลังงานทุกภาคส่วน

30 มิ.ย. 2563 | 07:05 น.

สนพ.เร่งตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ดันสู่องค์กรอิสระ ตอบโจทย์ผู้ใช้ข้อมูลพลังงานทุกภาคส่วน

ถือเป็นการปฏิวัติด้านข้อมูลพลังงานอีกครั้ง ที่กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” (National Energy Information Center : NEIC) เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย และสามารถตอบโจทย์ Stakeholder ผู้ใช้ข้อมูลพลังงานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานและองค์กรด้านพลังงาน กลุ่มธุรกิจกิจพลังงาน ภาคการศึกษา ไปจนถึงประชาชนทั่วไป ให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านพลังงานซึ่งจะช่วยลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูล ที่จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศได้

 

ศูนย์กลางเชื่อมข้อมูล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นว่า สนพ.ได้จัดทำโครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการ ของแต่ละหน่วยงาน เผยแพร่ข้อมูลพลังงาน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ออกแบบเชื่อมโยงกับระบบ Internet of Thing หรือ IoT) มีระบบสมองกลอัจฉริยะ (AI) มาช่วยประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานของประเทศ ใหสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเข้าใจง่าย นำไปต่อยอดในการบริหารจัดการนโยบายด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ Big Data นี้ จะมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาและต่อเนื่อง มีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย เพื่อให้เกิดการยอมรับทุกภาคส่วนและในระดับสากล และสอดรับการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for All) เป็นการสร้างฐานนวัตกรรมข้อมูลด้านพลังงานในอนาคตที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อการจัดทำแผนพลังงานของประเทศ การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงาน ตลอดจนประชาชนผู้ใช้พลังงานให้มีความเข้าใจข้อมูลด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง

 

ตอบโจทย์ทุกส่วน

นายวัชรพงษ์ สุกิจจานนท์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำยุทธศาสตร์  ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า  NEIC ได้กำหนดความเชี่ยวชาญของศูนย์ฯไว้ 3 ด้านหลักๆ คือ1. ด้านเทคนิค 2. Soft skill 3. ดิจิตัล และตอบโจทย์ระบบราชการ 4.0 ภายใต้การดำเนินการที่ครอบคลุมพันธกิจ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากลและตามหลักธรรมมาภิบาล และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลทุกกลุ่ม 2. ประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายเพื่อให้ได้รับหรือเผยแพร่ข้อมูลพลังงานและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องจากองค์การต่างๆ 3. ให้บริการข้อมูล สารสนเทศ บทวิเคราะห์ การคาดการณ์ ด้านพลังงานให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ 4. เสริมสร้างการใช้ ความเข้าใจ การสร้าง และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลแก่ผู้เกี่ยวข้อง 

ขณะที่รศ.ดร.จักรพงศ์ นาทวิชัย  ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ปรึกษาโครงการ ยืนยันว่า การออกแบบ NEIC จะสามารถผสานข้อมูล แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ไม่ง่าย รวดเร็ว รวมถึงมีการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ และมีระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ 


สนพ.เร่งตั้ง NEIC ดันสู่องค์กรอิสระ  ตอบโจทย์พลังงานทุกภาคส่วน

ก้าวสู่องค์กรอิสระ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขับเคลื่อน NEIC จะมีทั้งยุทธศาสตร์และโรดแมพที่ชัดเจน รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ในมุมของ นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน เห็นว่า การขับเคลื่อน NEIC ให้ประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องคำนึงถึง 3 ปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงข้อมูลด้านพลังงาน เนื่องจากข้อมูลด้านพลังงานมีทั้งข้อมูลที่อยู่ในหน่วยงานของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานนอกกระทรวงพลังงาน รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งต้องทำให้สามารถเชื่อมโยงให้ถึงกันให้ได้ 

2. การวิเคราะห์ข้อมูล ที่มีหลากหลายและมีความลึกของข้อมูลที่ต่างกัน จะต้องมีนักวิเคราะห์ที่มีความเข้าใจในแต่ละเรื่อง แต่ละสาขา วิเคราะห์และสื่อสารออกมาเป็นข้อมูลให้เข้าใจง่ายได้ และ 3. การเผยแพร่ข้อมูลและการสื่อสารข้อมูลให้เข้าใจง่าย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องอาศัย Soft skill และหน่วยงานราชการยังมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งสภาปฏิรูปและคณะปฏิรูปด้านพลังงานมองว่า ช่วงแรกของการตั้งศูนย์ฯ สามารถดำเนินการภายใต้หน่วยงานราชการได้ แต่ในอนาคตจำเป็นต้องแยกออมาเป็นอิสระและทำงานแบบเอกชน เพราะหากดำเนินงานภายใต้ระบบราชการ จะขาดความเป็นอิสระในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายๆ 

 

ผู้นำต้องส่งเสริม

สอดรับกับ นายกวินทังสุพานิช คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน ระบุว่า ไทยยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและเกิดความสับสนด้านข้อมูลด้านพลังงาน การบูรณาการข้อมูลกระทรวงพลังงานไม่สามารถดำเนินการคนเดียวได้ ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันจากหลายๆ หน่วยงาน และผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญทั้งการสร้าง Mild Set ของบุคลากร ที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ที่ต้องยึดหลักการ Open Data รวมถึงต้องสร้างให้บุคลากรมี Commitment ในภารกิจร่วมกัน  

นอกจากนี้ ต้องมีกระบวน การทำงานที่เป็น Network ทุกหน่วยงานจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านข้อมูลโดยตรง มีบุคลากร งบประมาณโดยตรงและมีหน้าที่บูรณาการด้านข้อมูลกับศูนย์โดยตรง ให้ทันเหตุการณ์ ซึ่งระหว่างที่ขับเคลื่อนแผนนี้ อยากเห็นผลการดำเนินงานด้านข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่เป็นประโยชน์ ที่จะนำไปวางแผนพลังงาน การวางแผนเศรษฐกิจ รวมถึงประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชนคู่ขนานไปกับการดำเนินโครงการฯ ในขณะนี้ 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563