ธปท.สั่งแบงก์ทำ Stress Test และ เงินกองทุน หวังสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว

22 มิ.ย. 2563 | 13:55 น.

ธปท.สั่งแบงก์ส่งแผนทดสอบความสามารถรับวิกฤติและเงินกองทุนปลายเดือนก.คพร้อมรายงานการปรับโครงสร้างหนี้-แนะให้รางวัลเพื่อรักษาลูกหนี้ดี

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบาย  ให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย "เงินปันผลระหว่างกาล" และ "งดซื้อหุ้นคืน" พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่2 นั้น


นายรณดล  นุ่มนนท์  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก  ซึ่ง ธปท.อยากเห็นความแข็งแกร่งของระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์มี "การ์ดสูง" โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินความสามารถรับวิกฤติหรือStress Test และจัดทำแผนระดับเงินกองทุน 1-3ปีข้างหน้า 


ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง  ของระดับเงินกองทุนและสร้างความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น  นักลงทุน และประชาชนผู้ฝากเงิน ในระยะยาว โดยปัจจุบัน อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS ratio )ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7% และธปท.ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อที่จะให้ผ่านเหตุการณ์ไปได้ โดยจะไม่ปล่อยให้เอ็นพีแอลไปถึง 50% เพราะได้รับบทเรียนมาแล้วในปี2540

ธปท.สั่งแบงก์ทำ Stress Test และ เงินกองทุน หวังสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว
"วันนี้ฐานะการดำเนินงานและระดับเงินกองทุนของแบงก์ยังเข้มแข็งอยู่ จึงขอให้แบงก์วางแผนทำSterss Test และจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนในเชิงรุก 1-3ปีข้างหน้าภายใต้สถานการณ์โควิดซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงและให้แบงก์นำส่งธปท.ปลายเดือนกรกฎาคม2563 โดยที่ผ่านมาแบงก์ได้ทำ Stress Testหรือทดสอบความสามารถรับวิกฤติไปก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด"
 

ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเพิ่มทุนนั้น นายรณดล กล่าวว่า    ตามหลักเกณฑ์กำหนดมาตรฐานระดับเงินกองทุนต้องไม่ต่ำกว่า 8.5%  ซึ่งธปท.จะไม่ปล่อยให้เงินกองทุนอยู่ในระดับต่ำเกินไป  หากระดับเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 11.5-12.5% ธปท.ต้องหารือร่วมกับสถาบันการเงินก่อน 


อย่างไรก็ตามการเพิ่มเงินกองทุนนั้นมีหลายแนวทาง เช่น  การงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ซึ่งจะเป็นกำไรสะสมใช้เพิ่มเงินกองทุนได้ รวมถึงสามารถเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่1โดยการเพิ่มทุน และออกหุ้นกู้เพิ่มเงินกองทุนขั้นที่2 เป็นต้น


"วันนี้เรามีมาตรการเชิงรุกทั้งมาตรการ ช่วยเหลือเพื่อดูแลลูกหนี้ หลากหลายทางเลือก และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อลดเงินกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้กับธนาคารพาณิชย์ และให้รายงานความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมนี้  ซึ่งการออกหนังสือเวียนนี้ เพื่อ มุ่งหวังเสริมสภาพคล่องระยะยาวเป็นผลดีกับสถาบันการเงิน ให้แข็งแกร่งมากขึ้นและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันกับแบงก์ เป็นเรื่องตอบโจทย์ระยะยาวซึ่งทั้งนักลงทุนต่างชาติและชาวไทย ก็จะเห็นมาตรการธนาคารกลางต่างประเทศได้ดำเนินการไปแล้วเช่นกัน"
 

นางธัญญนิตย์  นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า  ที่ผ่านมา จากการที่ธปท. ได้มีการหารือ กับผู้ประกอบการ สถาบันการเงินและนอนแบงก์  เพื่อหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการผ่อนชำระปกติหรือป็นลูกหนี้ดี   โดยที่สถาบันการเงิน สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้เอง  อาทิ การลดดอกเบี้ยทั้งกระดาน 


หรือสถาบันการเงินควรมีสิ่งตอบแทนสำหรับลูกหนี้ที่ประวัติการชำระดี  เช่น ลดดอกเบี้ย หรือ เครดิตเงินคืน(Cash Back) หรือ บัตรกำนัล (Voucher)ซึ่งเข้าใจว่าสถาบันการเงินได้ดำเนินการตามความเหมาะสมโดยไม่ได้ประกาศออกมาต่อสาธารณะ โดยเชื่อว่าแต่ละสถาบันการเงินจะพิจารณาให้ลูกค้าเองเพื่อจะรักษาลูกค้าดีไว้

ธปท.สั่งแบงก์ทำ Stress Test และ เงินกองทุน หวังสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว
สำหรับ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะ1 มีความคืบหน้า จำนวน 15.2ล้านรายเป็นมูลหนี้รวม3.87ล้านล้านบาท  นอกจากนี้ลูกหนี้สามารถใช้เว็บไซต์ "ทางด่วนแก้หนี้"เพื่อที่ธปท.จะประสานกับสถาบันการเงินซึ่งที่ผ่านมามีลูกหนี้ใช้ชีองทางนี้ราว 7,000-8,000รายและสามารถหาข้อสรุปได้ถึง 70%