Window Dressing ครึ่งปีแผ่วจับตาแรงซื้อ 10 วันสุดท้าย

21 มิ.ย. 2563 | 23:45 น.

โบรกเผย Window Dressing ครึ่งปีแรกปี 2563 น้อยกว่าในอดีต หลังหุ้นไทยราคาแพง ซื้อขายพีอี 20 เท่า จับตาแรงซื้อสถาบันและ SSFX 10 วันสุดท้าย แนะซื้อขายทำกำไรระยะสั้น 

ตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา เผชิญกับปัจจัยทั้งลบและบวกหลากหลาย ซึ่งเป็นไปตามกระแสในช่วงนั้นๆ โดยในไตรมาสแรกปี 2563 ดัชนีหุ้นไทยลดลง 28.74% ขณะที่ไตรมาส 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-18 มิถุนายน 2563 กลับเพิ่มขึ้น 21.95% ส่วนราคาหุ้นบางตัวที่ปรับลดลงตํ่ากว่าราคาพื้นฐานนั้น มีวิธีที่นิยมใช้กันในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสคือ การดันราคาหุ้นปิดให้สูงขึ้น เพื่อทำให้ราคาหุ้นในพอร์ตมีมูลค่าสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า  Window Dressing ซึ่งมักจะเกิดในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ สถาบัน และบริษัทที่ลงทุนในหุ้น

ขณะปัจจุบันตลาดหุ้นอยู่ในช่วงพักฐาน เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่มากระตุ้น โดยนักลงทุนจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุ 1.4 แสนรายติดกัน 2 วัน สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์  

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัดเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คาดว่า การทำ Window Dressing จะน้อยกว่าในอดีตที่ปกติจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนและธันวาคม เพราะราคาหุ้นไทยปัจจุบันซื้อขายในระดับพีอีประมาณ 20 เท่า ซึ่งแพงกว่าปกติ อีกทั้งก่อนหน้านี้ นักลงทุนสถาบันได้เข้าซื้อมากพอสมควรในช่วงเดือนมีนาคมที่ดัชนีหุ้นปรับลดลงตํ่า ทำให้อาจจะไม่มีแรงซื้อเข้ามาเพิ่มมากในช่วงที่เหลือของไตรมาสนี้ 

Window Dressing ครึ่งปีแผ่วจับตาแรงซื้อ 10 วันสุดท้าย

ทั้งนี้ ข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง สถาบันจะซื้อสูงสุดในเดือนมิถุนายนที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท เป็นการซื้อสูงสุดถึง 8 ใน 10 ปี ส่วนเดือนธันวาคมสูงสุดที่ 14,000 ล้านบาท ซื้อสูงสุด 9 ใน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามแรงซื้อช่วงที่เหลือประมาณ 10 วันสุดท้ายของเดือนมิถุนายนในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และการซื้อกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ที่จะหมดระยะเวลาการเข้าซื้อในปลายเดือนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาการซื้อในกลุ่มสถาบันเริ่มลดลง โดยปลายไตรมาสแรก เดือนมีนาคมซื้อสุทธิถึง 40,000 ล้านบาท จากนั้นเริ่มลดลงในเดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 23,000 ล้านบาท, เดือนพฤษภาคม ซื้อสุทธิ 17,000 ล้านบาท และเดือนมิถุนายน ล่าสุดซื้อสุทธิที่ 1,400 ล้านบาท 

ขณะที่การซื้อกองทุน SSFX ระยะเวลา 3 เดือน อยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ในอดีตที่เฉลี่ยปีละ
60,000 - 70,000 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วง 10 วันสุดท้ายพบว่า ในอดีต 10 ปีย้อนหลัง ดัชนีหุ้นไทยจะปรับขึ้นประมาณ 0.63% และปรับขึ้นถึง 7 ใน 10 ปี ซึ่งหุ้นที่คาดว่านักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ และราคาปรับขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย คือ BJC เพิ่มขึ้น 4%, ADVANC เพิ่มขึ้น 2.9%, BDMS เพิ่มขึ้น 2.9%, INTUCH เพิ่มขึ้น 2.4%, PTTEP เพิ่มขึ้น 2.1%, AOT เพิ่มขึ้น 2%, SCC เพิ่มขึ้น 1.6%, CPALL เพิ่มขึ้น 1.2%, CPF เพิ่มขึ้น 1% และ TTW เพิ่มขึ้น 1% 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ จำกัดกล่าวว่า จากการศึกษาความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายเดือนของทุกไตรมาสย้อนหลัง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2552 เป็นต้นมาพบว่า ไตรมาส 1 มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์ Window Dressing ประมาณ 67% ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.2%, ไตรมาส 2 มีโอกาสเกิด 64% ให้ผลตอบแทน 1.4%, ไตรมาส 3 มีโอกาสเกิด 64% ให้ผลตอบแทนติดลบ 0.5% และไตรมาส 4 มีโอกาสเกิด 64% ให้ผลตอบแทน 0.0% นอกจากนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมของหุ้นเป็นรายตัวในอดีตพบว่า หุ้นที่มักเกิดผลกระทบ Window Dressing คือ BGRIM, GULF, KTC, OSP, PRM, RATCH, SPALI และ TTW โดยแนะนำซื้อขายระยะสั้น จากประเด็นบวกเฉพาะตัวหนุน

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ อาจจะไม่เห็นการทำ Window Dressing เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจ และจะต้องเกิดขึ้นในช่วงที่ราคาหุ้นลดลงหนัก แต่ราคาหุ้นไทยในปัจจุบันกลับค่อนข้างแพง จึงควรระวังความเสี่ยงในการขายทำกำไรมากกว่า ทั้งนี้ในไตรมาส 3 แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีความปลอดภัย เพราะอาจจะยังมีความผันผวนในระยะสั้น รวมถึงขายทำกำไรเพื่อถือเงินสด และรอเข้าซื้อในจังหวะที่เหมาะสม 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563