อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด “แข็งค่า”ตลาดจับตากนง.ประชุมสัปดาห์หน้า

19 มิ.ย. 2563 | 01:10 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงนี้แกว่งตัวในกรอบแคบระหว่างวันอิงทิศทางสกุลเงินเอเชีย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(19มิ.ย.)ที่ระดับ 31.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.00-31.20 บาทต่อดอลลาร์-ตลาดเริ่มมองความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับ "ลด" อัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทช่วงนี้แกว่งตัวในกรอบแคบลง โดยระหว่างวันมักเคลื่อนไหวอิงไปกับทิศทางของสกุลเงินเอเชีย จุดที่น่าสนใจต่อไปน่าจะเป็นมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยในสัปดาห์หน้า(24มิ.ย.2563) ตลาดเริ่มมองความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับ "ลด" อัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  
    โดยตลาดการเงินแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 บวกเพียง 0.1% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลงมาที่ระดับ 0.71% (-3.3bps) แม้ราคาน้ำมัน WTI จะปรับตัวขึ้น 2.5% มาที่ระดับ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลด้วยความหวังว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะลดกำลังการผลิตตามที่สัญญาไว้

ส่วนในฝั่งเศรษฐกิจ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) ยังอยู่ในระดับสูงถึง 1.51 ล้านตำแหน่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะลดลงจากระดับ 1.57 ตำแหน่งในช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำให้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องในสหรัฐลดลงจากระดับ 20.5 ล้านคนได้ ถือว่าเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าที่ตลาดคาดหวัง
 
      ฟากนโยบายการเงิน ธนาคารกลางอังกฤษมีมติ "เพิ่ม" ปริมาณการซื้อบอนด์ 1 แสนล้านปอนด์ตามที่ตลาดคาดไว้ แต่ยังไม่มีแนวคิดที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ย "ติดลบ" ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางยุโรปรายงานว่าสามารถ ปล่อยกู้ผ่านโครงการ TLTRO  อายุสามปี ได้ถึงระดับ 1.3 ล้านล้านยูโร คาดว่าจะเป็นกลไกหลักที่จะเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
    ส่วนเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าต่อ 0.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทันทีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวช้า โดยสกุลเงินที่ปรับตัวลงมากคือดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) จากแรงขายทำกำไรของตลาดจากมุมมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจพบกับแนวต้านถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว และการระบาดของไวรัสรอบสองกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญ