เทียบเสียง2ขั้ว 4 พ.ร.ก.ฉลุย

29 พ.ค. 2563 | 04:40 น.

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 3 ฉบับเพื่อฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของไวรัสโควิด- 19 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 27- 31 พฤษภาคมนี้ ดูเหมือนซีก “พรรคร่วมรัฐบาล” มั่นใจเต็มร้อยในการรับมือกับการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน โดยเปิดไฟเขียวให้ทั้ง 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายได้เต็มที่ตลอด 5 วัน ตั้งแต่เวลา 09.30-20.00 น. และลงมติก่อนเวลา 15.00 น. ในวันที่ 31 พฤษภาคม ขณะที่พรรคฝ่ายค้านจัดทีมกุนซือติวเข้มเสมือนเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลเลยทีเดียว

 

เป้าถล่ม “บิ๊กตู่-อุตตม”

สำหรับ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563  หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ช่วย เหลือเอสเอ็มอี 

3. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือพ.ร.ก. รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และ 4. พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563  

เกมซักฟอก พ.ร.ก.เงินกู้ครั้งนี้ ฝ่ายค้านวางเป้าหลักพุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นหลัก ยิ่งเมื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศจะชี้แจงรายละเอียดของร่างพ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับในห้องประชุมสภา ด้วยตัวเอง เกมการอภิปรายในสภาของทั้ง 2 ฝ่าย ถูกกำหนดยุทธวิธีไว้อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรคน ข้อมูล และคุมเวลาในการอภิปราย  

สำคัญที่คนเดินเกมของแต่ละฝ่าย ใครมีชั้นเชิงการเมืองเหนือกว่า โดยขณะนี้จำนวน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 20 พรรคมี 276 คน ขณะที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค มี 211 คน รวมเป็น 487 คน ส่วนจำนวนส.ส.ที่หายไป 13 คนนั้น แบ่งเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 11 คน

 

เทียบเสียง2ขั้ว 4 พ.ร.ก.ฉลุย

 

ไม่รวม นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีตส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิต ต้องเลือกตั้งซ่อม และนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รอศาลชี้ขาด “ใบเหลือง” 

 

 

เวลาชี้แจงครม. 11 ชั่วโมง

จากการหารือของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ข้อยุติในการจัดสรรเวลาร่วมกันว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้รับการจัดสรรเวลา 660 นาที หรือ 11 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เวลา 660 นาที หรือ 11 ชั่วโมง ขณะที่การแบ่งเวลาให้ส.ส. แต่ละพรรคนั้น ได้กำหนดเวลามาตรฐาน คนละ 7 นาที 

ส่วนการอภิปรายของแต่ละพรรคกำหนดไว้ดังนี้พลังประชารัฐ ได้เวลาจัดสรรรวม 280 นาที, พรรคภูมิใจไทย ได้เวลาจัดสรรรวม 146 นาที, พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเวลารวม 124 นาที, พรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับเวลารวม 28 นาที, พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้รับเวลารวม 14 นาที, พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้รับเวลารวม 12 นาที, พรรคพลังท้องถิ่นไท ได้รับเวลารวม 12 นาที, พรรคชาติพัฒนา ได้รับเวลา 10 นาที และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ได้เวลารวม 6 นาที 

ขณะที่ 11 พรรคเล็ก ได้รับเวลารวมกัน 6 นาที โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า เวลาที่คำนวณให้แต่ละพรรคนั้น เป็นหน้าที่ของพรรคที่จะเป็นผู้จัดสรรเวลาเอง ทั้งเป็นไปได้ที่พรรคอาจจัดสรรให้ส.ส.ที่อภิปรายได้เวลามากกว่าคนละ 7 นาที เช่น 10-15 นาทีได้ แต่ต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามเวลา

 

 

ฝ่ายค้านจัด 60 ส.ส.ถล่ม

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคล่าสุด ชัดเจนว่า แนวทางการอภิปราย จะไม่ขีดเส้นไว้เฉพาะการพิจารณาพระราชกำหนดเป็นรายละฉบับ แต่สามารถอภิปรายโยงไปถึงพระราชกำหนดฉบับอื่นได้เท่าที่จำเป็น โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยอมรับว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมผู้อภิปรายไว้ทุกพรรค ประมาณ 60-65 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 35 คน พรรคก้าวไกล 15 คน ส่วนที่เหลือที่ลดหลั่นไปตามสัดส่วนของส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรค 

ประเด็นหลักที่พรรคฝ่ายค้านตั้งธงอภิปรายหนีไม่พ้น การกล่าวหารัฐบาลว่า การตราพระราชกำหนดเป็นการตีเช็คเปล่าและไม่มีรายละเอียด หากไม่มีรูปเล่มรายละเอียดทางฝ่ายค้านจะเสนอให้มีการบันทึกในสภาเพื่อเป็นหลักฐาน

ส่วนนายพิจารณ์ เชาว-พัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ฝ่ายค้าน ได้จัดสรรเวลารัดกุมมากขึ้น โดยการอภิปรายในแต่ละวันประมาณ 10.30 ชั่วโมง และยังแบ่งเวลาอย่างละเอียด เพื่อให้แต่ละพรรคได้อภิปรายครบถ้วน 

สำหรับขั้นตอนการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ สภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันการอนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อให้ พ.ร.ก.นั้น มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

ดูแล้ว พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีน่าจะมีปัญหาอะไร กับ “รัฐบาล” เพราะมีเสียงส.ส.อยู่ทั้งหมด 276 เสียง ขณะที่เสียงใช้ผ่านกฎหมายแค่ 244 เสียง 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,578 หน้า 12 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม 2563