รูดบัตรเครดิตยุคโควิด ผ่อนจ่ายขั้นต่ำ 5 % อาจเป็นภัย

26 พ.ค. 2563 | 01:30 น.

โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ฝากข้อดิด มาตรการผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% อย่าเพิ่งย่ามใจ รูดเพลินใช้เพลินหนี้ทับถมไม่รู้จบ

จากมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตจากผลกระทบโควิด-19 ที่ให้ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากเดิม 10% เป็น 5% ที่ทุกธนาคารต่างตอบรับเป็นอย่างดี บางธนาคารถึงกับ งด” ให้โดยอัตโนมัติ  ไม่ต้องชำระเลยยอดหนี้ทั้งหมด ถึง 2 งวด ดูเผิน ๆเหมือนให้คุณ แต่ถ้าดูลึก ๆ จะเป็นภัยเรื้อรังได้ เพราะ หนี้ยังคงอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือดอกผลที่จะเพิ่มตามยอดค้างฯ

            จักรพงษ์  เมษพันธุ์  The Money Coach  ประธานมูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงินผู้มีชื่อเสียงและคร่ำหวอด ซึ่งมีประสบการณ์จริง เคยเป็นหนี้บัตรเครดิตหลักหลายล้านบาท ให้ความเห็น 

“ฐานเศรษฐกิจออนไลน์” ต่อกรณีนี้ว่า

 “ต้องบอกก่อนว่ามาตรการนี้ ถ้าถามว่าช่วยลูกหนี้บัตรเครดิตได้จริงไหม ต้องตอบแบบนี้ว่า ช่วยในส่วนของลูกหนี้ที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

           ความหมายก็คือ คุณไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนได้ หรือการจ่ายเกินจากขั้นต่ำไปเล็กน้อยก็ดูจะเป็นปัญหาสำหรับคุณ เพราะฉะนั้นมาตรการนี้ ออกมาเพื่อเยียวยาแล้วก็ช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้ที่อาจจะไม่มีกำลังในการผ่อนชำระแล้ว มีปัญหาสภาพคล่อง

  ดังนั้น จะช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่องเป็นหลัก ไม่ได้มีผลในเรื่องอื่นเลย

 “ คำว่าช่วยเหลือสภาพคล่องก็คือว่า มันทำให้เราควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อจ่ายหนี้คงค้างในแต่ละเดือนน้อยลงไปอีกซักนิด เพื่อให้เหลือเงินเก็บเข้ามากิน” 

             อย่างในกรณีนี้ 10% เหลือ 5%ก็คือมี 5% ที่เราไม่ต้องจ่าย ถ้าเราตึงอยู่ก็ช่วยลดภาระ ถ้าเรากำลังหมุนเวียนไม่คล่อง ก็จะเหลือ 5% ไว้กลับไปกินใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าการลดอัตราการผ่อนชำระลงจากเดิม สิ่งที่เป็นข้อดีก็บอกไปแล้วว่าคือสภาพคล่องของผู้ที่ผ่อนชำระ

           แต่ก็มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจด้วย นั่นก็คือการผ่อนชำระขั้นต่ำเพียงแค่ 5% จะทำให้เหลือเงินต้นคงค้างมากกว่าการผ่อนแบบ10% ยกตัวอย่างเช่น คุณรูดบัตรเครดิตไป 10,000 บาทแต่เดิมเราผ่อนแบบ 10% 10,000 บาท เราก็จะส่ง 1,000 บาท แต่ถ้าแบบใหม่ 10,000 บาท เราจะส่งแค่ 500 บาท ถ้ารูดบัตร 10,000 บาท แล้วส่ง 1,000 บาท เราก็จะมีเงินต้นคงค้างอยู่ 9,000 บาท แต่ถ้าเกิดรูดไป 10,000 บาท แล้วจ่ายขั้นต่ำเพียง 5% แค่ 500บาท เราก็จะเหลือยอดคงค้างหรือเงินต้นค้างอีก 9,500 บาท 

            “ทีนี้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตส่วนหนึ่งคิดมาจากยอดเงินคงค้าง ดังนั้นเวลาเค้าคิดดอกเบี้ยสำหรับเดิมที่ผ่อน 10% ก็จะเอา 9,000 บาท ที่เป็นยอดเงินต้นคงค้าง คูณด้วย 18%คูณด้วย 30 วัน แล้วหารด้วย 365 นี่คือดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงค้าง แต่ถ้าเกิดว่าเปลี่ยนเป็นระบบผ่อน 5% 10,000 บาท เราผ่อนไป 500 บาท ดังนั้น จะเหลือ 9,500 บาท ดอกเบี้ย ก็จะต้องคิด 18% คูณด้วย 9,500 บาท คูณด้วย 30 วัน หาร 365

            จะสังเกตว่า ด้วยการที่เงินคงค้างมันเหลือเยอะกว่าก็ทำให้ตัวฐานที่คงเหลือเอาไปคิดดอกเบี้ยมากกว่า แล้วก็จะทำให้เราเสียดอกเบี้ยสูงกว่า เพราะฉะนั้นต้องบอกอย่างนี้ว่ามาตรการนี้ ในเชิงของต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยนั้นไม่ได้ดี ไม่ใช่เป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องเข้าใจว่ามาตรการนี้ออกเพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาทางการเงิน มีปัญหาสภาพคล่อง คุณยืมเค้าไป 10,000 บาท จ่าย 1,000 บาท ยังไม่ไหว คุณก็จ่าย 500 บาท ถ้าเกิดหนี้วงสูงกว่านี้ล่ะ ใครค้างหนี้อยู่ 100,000 บาท เดิมก็เดือนละ 10,000 บาท ก็เปลี่ยนเป็นเดือนละ 5,000บาท มันก็ทำให้เราพอมีเงินกินเงินใช้ พอขับเคลื่อนชีวิตในแต่ละเดือนไปได้เท่านั้นเอง 

เพราะฉะนั้นถามว่าดีหรือเปล่า ไม่ดี หรือต้องบอกว่าต้องใช้ให้เป็นมากกว่า  ความหมายก็คือว่า ถ้าคุณเป็นคนที่ผ่อนชำระเต็มจำนวนได้หรือจะให้ดีก่อนรูดให้เราเข้าใจว่าเราผ่อนชำระเต็มจำนวนได้ไหม ถ้าจ่ายเต็มจำนวนได้ก็จ่ายไป หรือว่าถ้าจ่ายเกินจากขั้นต่ำได้ ก็ควรจ่ายเกินจากขั้นต่ำ เพราะว่าส่วนที่จ่ายเกินจากขั้นต่ำก็จะไปตัดต้นตรงๆ ทำให้ดอกเบี้ยในเดือนถัดไปน้อยลง แต่ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการเงินจริงๆ ตอนนี้คุณอาจจะถูกลดเงินเดือน อาจจะถูกให้อยู่บ้านโดยไม่ได้เงินเดือน ไม่ได้ค่าแรง แล้วคุณอาจจะกำลังกินใช้เงินสำรองอยู่ การใช้เงื่อนไข 10% 5% ตรงนี้ มันก็เป็นตัวช่วยให้คุณคลายกังวลทางการเงินได้มากขึ้น 

 สุดท้ายก็อยากจะให้คำแนะนำกับคนที่ใช้บัตรเครดิต สิ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ

             ข้อที่ 1. บัตรเครดิตเป็นบัตรที่เราใช้พกพาเพื่อความสะดวก ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อให้เรารูดเงินไปแล้วค่อยไปผ่อนทีหลัง ใช้เพื่อความสะดวก ไม่ต้องพกเงินสดปริมาณมากๆ ดังนั้น โจทย์สำคัญข้อที่หนึ่งคือทุกครั้งที่ใช้บัตรต้องมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายคืนได้เต็มจำนวนในตอนสิ้นเดือน เพราะว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูง ก็คือ 18% ขึ้นไป 

           ข้อที่ 2 ถ้าเกิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายขั้นต่ำจริงๆก็ต้องประเมินตัวเองให้ดีว่าสถานการณ์ตรงนั้นเราไม่ไหวจริงๆก็อาจจะเลือกใช้แบบจ่ายขั้นต่ำได้ แต่ถ้าคุณเลือกจ่ายแบบขั้นต่ำ สิ่งที่อยากจะขอก็คือคุณต้องไม่สร้างหนี้เพิ่ม เพราะไม่เช่นนั้นภาระมันก็จะทับถมไปอีกแล้วก็ไม่รู้จบ

ข้อที่ 3. ถ้าคุณมีกำลังพอจ่ายได้มากกว่าการผ่อนชำระขั้นต่ำที่เป็นเกณฑ์กำหนดจากเดิม10% ตอนนี้เหลือ 5% ถ้าคุณมีกำลังส่งได้ 10% เท่าเดิม หรือส่งได้ 15% หรือ 20% ก็ใส่เข้าไปเลย เพราะก็จะช่วยให้ไปตัดต้นได้มากขึ้น และก็ช่วยทำให้คุณหมดหนี้ได้เร็วขึ้น 

จักรพงษ์  ย้ำทิ้งท้ายอีกครั้งหนึ่งว่า 

” ก่อนใช้บัตรเครดิต คิดถึงวันข้างหน้าด้วยว่าเราสามารถผ่อนชำระคืนเค้าได้หรือเปล่า แล้วก็อย่าไปยึดติดกับการจ่ายขั้นต่ำ คิดว่ารูด 10,000 บาท จ่าย 500 บาทรูด 20,000 บาท จ่าย 1,000 บาท น่าจะเป็นการบริหารเงินที่ถูกต้อง จริงๆแล้วไม่ถูกต้องเลย ที่ถูกต้องของการบริหารบัตรเครดิตก็คือ รูดเท่าไหร่สิ้นเดือนจ่ายคืนเค้าไปเต็มจำนวนเท่านั้นครับ