โควิด -19 กระตุ้นยอดขายยารักษาโรค Q1โต

22 พ.ค. 2563 | 05:37 น.

อานิสงค์โควิด -19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไตรมาสแรกโต 7.5% แต่ระยะยาวคาดต้นทุนยาปรับตัวสูงขึ้น

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่า 5.7 พันล้านบาท โดยการเติบโตเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทําให้ความต้องการยาประเภทแก้ไข้ แก้ปวด และแก้อักเสบ รวมทั้งวัคซีน เพิ่มขึ้น

 

โดยมูลค่าการจําหน่ายยาเม็ดเพิ่มขึ้น 14.6% รองลงมาได้แก่ ยา แคปซูล 13.5% ,ยาฉีด 9.8%   และยาน้ำ1.9%  สอดคล้องกับมูลค่าการนําเข้ายาที่เพิ่มขึ้น 0.7%  หรือคิดเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการนําเข้ายาและส่วนประกอบตัวยาสําคัญจากจีน และอินเดีย  8.5%  

 

 อย่างไรก็ตามในด้านการส่งออกยา หดตัวทั้งด้านปริมาณ ที่ติดลบ 4.4%  เนื่องจากในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรง ทุกประเทศซึ่งรวมทั้งไทยชะลอการส่งออก และหันมาเน้น ตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศก่อน

 

วิจัยกรุงศรี ได้ประเมินว่า ในระยะถัดไป ไทยอาจเผชิญกับต้นทุนราคายาที่มีแนวโน้มปรับขึ้น ผลจากการหยุดการผลิตชั่วคราวของโรงงานผลิตสารตั้งต้นและส่วนประกอบ สําหรับผลิตยาในจีน ขณะที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกสารตั้งต้นและส่วนประกอบ รวมถึงตัวยารักษาโรค 26 ชนิด เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อสํารองไว้ผลิตในประเทศ

 

นอกจากนี้ บริษัทผลิตยาต้นตํารับชั้นนําของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษ ระงับการวิจัย/ทดลองทางคลินิก (Clinical Trials) ยารักษาโรคอื่นๆ ชั่วคราวเพื่อหันมาคิดค้นพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ทําให้มีแนวโน้มที่วัตถุดิบสารตั้งต้นอาจขาดแคลนและราคาปรับสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ของไทยซึ่งยังพึ่งพาทั้งการนําเข้าวัตถุดิบสารตั้งต้นและยาต้นตํารับ