เปิด7ข้อตลาดแรงงานบนบริบทของ “New Normal”

21 พ.ค. 2563 | 03:59 น.

Econ Thai จับตาทิศทางการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน   เผยหลังโลกเผชิญพิษโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไป

 

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆจากหลายประเทศทั่วโลกต่างมองไปในทางเดียวกันว่าไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบยาวนานอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี และหลังจากการระบาดของไวรัสในครั้งนี้ อาจทำให้เกิด New Normal ความปกติในรูปแบบใหม่ของพฤติกรรมของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนไป ที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน

ล่าสุดดร.ธนิต  โสรัตน์   รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (Econ Thai)เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานบนบริบทของ “New Normal” หรือความปกติใหม่ มี7 ข้อที่ต้องติดตามคือ

 

1.Business Downsize  การลดขนาดองค์กรให้เล็กลงโดยใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นและลดจำนวนแรงงานในสถานประกอบการเป็นทางเดินของธุรกิจที่เป็นวิถีใหม่ กอปรทั้งภัยคุกคามการจ้างงานจากการเร่งตัวของเทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ ที่เป็น “Disruptive Technology” จะเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ เช่น AI, Robots, Smartphone, Internet of things, Automation ฯลฯ

 

2.Labour Demand Changing  ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไปนายจ้างจะคัดกรองคนที่กลับเข้าทำงาน แม้แต่คนที่ทำงานอยู่แล้วอาจถูกลดขนาดภายใต้โครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่างๆ โดยแรงงานสูงวัยจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

 

3.New Job Challenge  ตลาดแรงงานใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้มีอาชีพใหม่ที่ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มลดขนาดองค์กรด้วยการกระจายตำแหน่งงานไปให้ฟรีแลนซ์และเอาท์ซอร์ซซึ่งไม่ต้องมีสำนักงานในลักษณะ “non-office worker” เช่น งานการตลาด, งานบัญชี, งานบริการลูกค้า, งานปฏิบัติการ, งานที่เกี่ยวกับคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ฯลฯ

4.Worth Returned Conceptual  แนวคิดความคุ้มค่าและมีค่าต่อองค์กร ผู้ที่จะอยู่ในตำแหน่งงานได้อย่างมั่นคงจนถึงวัยเกษียณจะต้องมีการปรับทัศนคติใหม่นอกจากการเพิ่มผลิตภาพของตนเองที่ต้องยกระดับให้มีความคุ้มค่าและคุณค่าต่อองค์กร ในอนาคตขนาดขององค์กรจะเล็กลงหลายตำแหน่งงานจะหายไป            ทำอย่างไรไม่ให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องถูกออกจากงานซึ่งจากนี้ไปจะเห็นการเร่งตัวของ “New Normal Early Retire”

5.First Labour Aged Demand เป็นโอกาสของแรงงานวัยตอนต้นเพราะพลวัตรตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง แรงงานใหม่ต้องสามารถตอบโจทย์สภาวะแวดล้อมธุรกิจการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมวัยแรงงานตอนต้นยังมีความต้องการสูงที่ผ่านมาแรงงานอายุ 18-29 ปี ความต้องการจ้างงานติดลบประมาณร้อยละ -14.6

 

6.Digital Platform Direction จะเป็นทิศทางเดินของธุรกิจทั้งภาคผลิต, ภาคบริการ, ค้าส่ง-ค้าปลีก,          โลจิสติกส์ ฯลฯ  เป็นจุดแข็งของแรงงานตอนต้นที่มาจาก Gen Z มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วกว่ากลุ่มวัยอื่น

 

7.Skill Change การเปลี่ยนแปลงของทักษะใหม่ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ไม่เหมือนเดิม แม้แต่แรงงานวัยตอนต้นล้วนมีความเสี่ยงสะท้อนจากแรงงานใหม่จบระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสัดส่วนถึงร้อยละ 29.5 ของผู้ว่างงานทั้งหมด ขณะเดียวกันแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่    ร้อยละ 63.2 จบปริญญาตรีในสาขาที่ล้าสมัยไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการด้อยคุณภาพของแรงงานใหม่ 

 

ดร.ธนิตกล่าวอีกว่า การคลายล็อกเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเฟส 2  การสตาร์ทติดเครื่องให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิมอาจต้องใช้เวลา เพราะหลายธุรกิจอาจล้มหายตายจาก แรงงานจะกลับเข้าทำงานไม่เต็มจำนวนเพราะหลายตำแหน่งงานจะหายไป   

“สิ่งที่จะตามมาคือสภาวะ “New Normal” หลังการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งใหญ่ของโลก ภูมิทัศน์ของตลาดแรงงานและวิถีใหม่ของการดำเนินชีวิตของผู้คนจะไม่เหมือนเดิมที่หวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วๆคงเป็นไปไม่ได้เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นแบบ “U-Shaped Discovery” ซึ่งเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว"