เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)

20 พ.ค. 2563 | 10:43 น.

    การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา2019 ปลุกให้ทั่วโลกตื่นตัวเพื่อรับมือ ท่ามกลางความมึนงงเพราะเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ที่ไม่รู้จัก รวมทั้งหมออนามัยชาวดอยประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ต้องปรับตัวเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดเพจเฟซบุ๊กสื่อสารโควิด19น่าน เพื่อเป็นสื่อกลางรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ จากคนหน้างานในพื้นที่เมืองน่าน บอกกล่าว"เรื่องเล่าดีดีโควิด19น่าน" หลายเรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตและการทำงานในห้วงประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่อง รพ.สต.บนดอย หมออนามัยชาวดอย ....

    ตอน 1 “โกลาหล อลเวง”
    ➡️คนต้นเรื่อง : ปิ่นปินัทธ์  ชาญมณีเวช
    ➡️เรียบเรียงโดย : ทีมสื่อสารความเสี่ยง สสจ.น่าน
    #เรื่องเล่าดีดีโควิด19 น่าน????
    #เรื่องเล่าดีดีโควิด19 อำเภอปัว จังหวัดน่าน
    

การปฏิบัติงานในชุมชน ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกันไป ถือเป็นความท้าทายให้ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาตนเอง  ยิ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์  ความเชื่อ  ประเพณี  และภาษา ยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้น  จะขอเล่าถึงเหตุการณ์บางส่วน ความประทับใจเล็กๆน้อยๆ แต่งเติมความรู้สึกส่วนตัว เพียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่คาดหวังว่าจะช่วยส่งพลังบวกให้คนปฏิบัติงานในชุมชน และรพ.สต.ทั่วประเทศ ในสถานการณ์โรคโควิด -19 


   เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)    

 

ตั้งแต่ต้นปี 2563 โรคระบาดที่ประชาชนทั่วไปต้องหยุดรับฟัง คงหลีกหนีไม่พ้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด- 19 ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์รากหญ้า ที่ปฏิบัติหน้าที่พยาบาลในรพ.สต.บนดอย  หมออนามัยชาวดอย แม้ที่ที่ทำงานอยู่จะไม่ใช่ดอยสูง แต่เป็นพื้นที่ที่มีประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอย่างหนาแน่น เกือบหนึ่งหมื่นคนในหนึ่งตำบล 
    

ทันทีที่ทราบข่าวเรื่องการระบาดอย่างรวดเร็วของโรคโควิด- 19 ที่เมืองอู่ฮั่น ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน(ประเทศจีน) และระบาดไปทั่วโลก รวมถึงพบผู้ป่วยในประเทศไทยด้วย นั่นยิ่งทำให้เกิดความหวาดหวั่นมิใช่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่รพ.สต.บนดอยแห่งนี้ ที่รับผิดชอบดูแลประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ อาศัยอย่างหนาแน่น และได้รับข้อมูลคำบอกเล่ามาตลอดว่า คนในพื้นที่เดินทางไปทำงานเป็นแรงงานในต่างประเทศจำนวนไม่น้อย หากว่าโชคร้ายคนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง และเดินทางเข้าพื้นที่การดำเนินการควบคุมก็คงไม่ง่ายเลยเช่นกัน


 เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)     

 เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)

 

ระยะแรกของการทำงานเกี่ยวกับโรคโควิด- 19 ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ในพื้นที่มีครอบครัวหนึ่งได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีน และกำลังจะกลับมาในพื้นที่ ขณะนั่งพูดคุยถึงสถานการณ์ของโรคโควิด- 19 กับครอบครัวในช่วงเย็น แนวทางต่าง ๆ มากมายก็ค่อย ๆ ผุดออกมาจากสมอง (ซึ่งความคิดบางอย่างบางแนวทางอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ) และแอบคิดเล่น ๆ สมมติว่าที่ตำบลมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด -19 สักรายสองราย สถานการณ์จะเป็นแบบไหน จะดีกว่าหรือเลวร้ายกว่าประเทศจีน 
    

อดคิดต่อไม่ได้ว่า แนวโน้มอาจไม่แตกต่างกัน เพราะตลอดระยะเวลาก็ได้ติดตามข่าวสารสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด แอบวางแผนเตรียมรับไว้พอสมควร ในการทำงานก็คงหนีไม่พ้นระบบขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในงานระบาดวิทยาในระดับอำเภอและระดับจังหวัด 
    

และแล้วครอบครัวแรกหรือผู้เสี่ยงซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ทีมหมออนามัยชาวดอยก็ได้ขอคำปรึกษาและเข้าให้การดูแลทันที เพราะหนึ่งในนักท่องเที่ยวเป็นบุคลากรของรพ.สต.บนดอย การล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกต้อง การสวมหน้ากากอนามัย การกักตัว 14 วัน ฯลฯ  ได้เน้นย้ำและดำเนินการอย่างเคร่งครัด  แต่ก็ไม่ได้ง่ายเพราะเป็นการดูแลผ่านทางไลน์ และโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากยังไม่เข้าพื้นที่ จนกระทั่งการกักตัวครบ 14 วัน  ผู้เสี่ยงปลอดภัยทั้งครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้คงเดิม
    

สถานการณ์โรคโควิด- 19 ในต่างประเทศยังระบาดเพิ่มพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เสี่ยงรายใหม่กลุ่มใหม่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยง ได้เข้าพื้นที่โดยไม่มีระบบแจ้งและติดตาม มีประชาชนบ้านใกล้เรือนเคียงของผู้เสี่ยงรายนั้น ได้มาแจ้งที่บ้านในช่วงพักกลางวันวันหยุดว่า 
    

“หมอมีคนกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ หมอต้องจัดการนะ เพิ่งมาถึงเช้านี้ มันเป็นหน้าที่หมอ และอีก...... ” 
  

 ณ ตอนนั้นยังตั้งรับไม่ทันกับข้อมูล เพราะซักถามชื่อสกุลผู้เสี่ยง ไม่บอก ชื่อสกุลผู้มาแจ้ง ไม่บอก ที่อยู่หรือพิกัดของผู้เสี่ยง ไม่บอก ข้อมูลทุกอย่างไม่ได้ ไม่มี ไม่บอก ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวล คือ บอกไม่ได้ เพราะไม่อยากมีปัญหา เดี๋ยวครอบครัวผู้เสี่ยงจะเอาเรื่องได้ แล้วประชาชนผู้ประสงค์ดีก็เดินจากไป ทิ้งข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาต่อยอดได้เลย 
    

แล้วเขารู้จักบ้านเราได้ยังไง เพราะในหนึ่งตำบล มี 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านชนเผ่า 3 ชนเผ่า มีประชาชนอาศัยอยู่เกือบหมื่นคน ถามใจหมออนามัยบนดอยก่อนไหม ถ้ามีข้อมูลเท่านี้หมออนามัยบนดอยจะต้องทำอย่างไร 
    

ระหว่างที่ยังรวบรวมสติและวางแผนค้นหาผู้เสี่ยงอยู่เงียบ ๆ (ขณะนั้นรู้สึกว่าเหมือนอยู่คนเดียวในโลก) ก็มีผู้อาวุโสในตำบลที่ท่านได้ทราบข่าวไม่ต่างจากหมออนามัยบนดอย ได้เข้ามาหาที่บ้านพักของหมออนามัยชาวดอยด้วยความเป็นห่วงประชาชนในตำบลเช่นกัน (ความรู้สึกของหมออนามัยชาวดอยในตอนนั้น รู้สึกว่าโชคดีที่ท่านไม่ปล่อยผ่าน ท่านห่วงใยลูกหลานคนในตำบล) 
    

หมออนามัยชาวดอยได้ซักถามขอข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ได้ข้อมูลมาส่วนหนึ่ง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ท่านได้มา ใกล้เคียงกับข้อมูลของประชาชนผู้ประสงค์ดีคนแรก     หมออนามัยบนดอยจะต้องทำอย่างไรดีหนอ? 


    
 เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)

 เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)

 

วันนี้เป็นวันหยุดราชการ อยู่เวรตรวจรักษาคนเดียวในรพ.สต. และที่สำคัญไฟฟ้าดับทั้งตำบล งานยากขึ้นมาอีก เพราะมีผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง  จะปลีกตัวไปติดตามหรือฝากงานค้นหาผู้เสี่ยงกับใครไม่ได้เลยจริง ๆ .....
  

 ระหว่างที่ปฏิบัติงานในรพ.สต.บนดอย วิธีค้นหาผู้ป่วยวิธีที่ 1  2  3 ....ก็ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ  บอกกับตัวเองว่า ถึงเวลาเริ่มกิจกรรมบริหารสมองแล้ว 
  

เวลาล่วงเลยไปจนถึงช่วงบ่าย ขณะนั่งตรวจรักษาผู้ป่วยที่รพ.สต.บนดอย ทันทีที่ไฟฟ้าส่องสว่างก็ทำให้เกิดแสงสว่างโผล่ขึ้นมาในหัวสมองเช่นกัน  ทุกแผนการที่ได้ครุ่นคิดได้ถูกนำมาใช้ทันที เช่น มีน้องที่รับทราบเรื่องได้แจ้งไลน์เจ้าหน้าที่รพ.สต.เรียบร้อย (เจ้าหน้าที่รับทราบ) โทรและไลน์หาอสม.ซึ่งปกติก็ต้องออกไปทำไร่ ทำสวน รับจ้างทั้งในและนอกพื้นที่ ไลน์ปรึกษาผู้นำชุมชน และผู้อาวุโสในตำบลเพื่อให้ช่วยกันค้นหาผู้เสี่ยง  
  

เวลาผ่านไปจนเกือบหกโมงเย็น ขณะนั้นหมออนามัยชาวดอยได้ข้อมูลทุกอย่างตามที่ต้องการ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับผู้เสี่ยง แต่ถ้าจะถามถึงเส้นทางกว่าจะได้ข้อมูลตามที่ต้องการคงได้เนื้อความที่สามารถเอาไปสร้างละครสั้นได้เลย 
    

ทุกอย่างไม่ง่าย โดยเฉพาะในบริบทตำบลแห่งชาติพันธุ์ เพราะพวกเรายังหวาดกลัว หวาดหวั่นเกี่ยวกับการไม่ได้รับความยุติธรรมในทุก ๆ เรื่อง การจะให้ความร่วมมือสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ก็จะทำด้วยความระมัดระวังเสมอ ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ทุกอย่างไม่ง่ายเลย ระบบต่าง ๆ ในการดูแลประชาชนผู้เสี่ยง  ในขณะนั้นกำลังพัฒนา  
  

เวลาประมาณ 18.00 น.โดยประมาณของวันเดียวกัน หมออนามัยชาวดอยได้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้เสี่ยง ทุกคำพูดพยายามกลั่นกรองให้ไพเราะ เป็นมิตร แสดงความห่วงใยทั้งต่อผู้เสี่ยง ญาติ และชุมชน โน้มน้าวให้ผู้เสี่ยงให้ความร่วมมือด้วยภาษาดอกไม้ ภาษาใจของหมออนามัยชาวดอย ผู้ซึ่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีโอกาสได้ทำหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์  ได้ให้คำแนะนำผู้เสี่ยงตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศ  และระดับจังหวัดที่มีในขณะนั้นอย่างครบถ้วน คิดในใจว่าถ้าผู้เสี่ยงปลอดภัย ญาติปลอดภัย ทุกคนก็จะปลอดภัย ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์และหมออนามัยชาวดอยจะเพิกเฉย และปล่อยผ่านไม่ได้ 
    

ถ้าภาระกิจครั้งนี้ไม่สามารถทำให้ผู้เสี่ยงและครอบครัวเล็งเห็นความสำคัญในการปฏิบัติตัวตามมาตรการของรัฐได้ หากผู้เสี่ยงรายนี้คือผู้ติดเชื้อ ประชาชนเกือบหนึ่งหมื่นคนในตำบลนี้จะมีความเสี่ยง และอาจติดเชื้อโรคโควิด-19 การแพร่ระบาดจะต้องควบคุมยากที่สุด เพราะประชาชนจะยังตั้งรับไม่ทันแน่นอน 
  

ขณะที่สามารถติดต่อผู้เสี่ยงนั้น ผู้เสี่ยงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อต้องการจะไปตรวจหาโรคโควิด-19 โดยผู้เสี่ยงได้เดินทางถึงบ้านช่วงเช้า และญาติได้ให้ผู้เสี่ยงเดินทางเข้ากรุงเทพฯทันทีด้วยสายการบินหนึ่ง (เพิ่มความเสี่ยงทั้งกับผู้เสี่ยงและผู้ร่วมทางอีกหลายชีวิต) ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกคนในครอบครัวต่างก็หวาดกลัวการได้รับเชื้อโรคโควิด-19 เช่นกัน และในคืนวันเดียวกันผู้เสี่ยงและญาติก็เดินทางเข้าพื้นที่
    

ในช่วงนั้นประชาชนในตำบล รวมถึงผู้เสี่ยงและครอบครัวยังไม่เข้าใจมาตรการการกักตัว 14 วัน การแยกของใช้ การล้างมือ ฯลฯ วิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเครือข่ายก็ไม่ง่าย ต้องเข้าพื้นที่ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ โทรติดตามบ่อย ๆ ทุกครั้งที่เข้าพื้นที่ ทีมหมออนามัยชาวดอย จะสวมหน้ากากอนามัย (ที่ยังมีใช้เฉพาะเมื่อลงพื้นที่เยี่ยมผู้เสี่ยง) สวมถุงมือยาง พร้อมปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลที่ใช้วัดทางรักแร้ 
    

นอกจากต้องเน้นย้ำมาตรการทุกครั้งแล้ว  สิ่งที่หมออนามัยชาวดอยรับรู้มาตลอดการปฏิบัติงาน คือ ความเครียดของผู้เสี่ยง  ครอบครัว  คนในชุมชน และชุมชนข้างเคียง ข่าวว่าในตำบลมีผู้ติดเชื้อก็แพร่ไปทั่วโซเชียลระลอกแล้วระลอกเล่า (ข่าวว่าหมออนามัยชาวดอยไม่ทำอะไรเลยก็เช่นเดียวกัน) ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์รากหญ้า พวกเราไม่ได้ห่วงเรื่อง “ชื่อเสีย” ว่า หมออนามัยชาวดอยไม่ทำอะไร คำพูดนั้นไม่สามารถมาบั่นทอนกำลังใจเราได้ การระดมสมองของทุกคนในทีมได้  กระบวนการทำงานเฝ้าระวังของทีมยังเดินหน้าต่อไป
    

เมื่อปฏิบัติการดูแลผู้เสี่ยงรายแรกถูกขับเคลื่อน การดำเนินงานเฝ้าระวังตามมาตรการการกักตัว 14 วันอย่างเคร่งครัดอยู่ในขณะนั้น หมออนามัยชาวดอยก็ได้ให้อสม.ทุกหมู่บ้านทำการตรวจสอบ ค้นหาผู้เสี่ยงรายอื่น ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ จนทำให้ได้ข้อมูลว่ามีผู้เสี่ยงอีก เป็นรายที่1  รายที่2 รายที่3 และ....ภายในระยะเวลาเพียง 2 วันมีผู้เสี่ยงทั้งหมด 5 ราย และหากหมออนามัยชาวดอยจะทำงานเพียงยึดแต่มาตรการต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่การทำงานในพื้นที่ที่ประชาชนยังมีความหวาดกลัว หวาดกลัวเกี่ยวกับการไม่ได้รับความยุติธรรมในทุก ๆ เรื่อง ความไม่กล้าให้ข้อมูลที่แท้จริง การไม่ลงทะเบียนผู้เสี่ยง จะทำให้การทำงานเฝ้าระวังโรคระบาดไม่สามารถสัมฤทธิ์ผล 
    

โรคโควิด -19 เป็นโรคอุบัติใหม่ หมออนามัยชาวดอย จึงไม่อาจนิ่งดูดาย หากแต่ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  และหากลวิธีต่าง ๆ เพื่อนำนโยบาย แนวทาง มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข หรือของทางราชการ มาประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ โดยให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคโควิด- 19 และหากแม้จะเกิดการระบาดก็เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับที่โรงพยาบาลในประเทศสามารถรับมือได้

 

https://www.facebook.com/photo?fbid=127807725570148&set=pcb.127809692236618

 เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"โกลาหล(1)