“ตั๋วร่วม” ส่อล่ม หลังบีทีเอส-MRT อัพข้ามระบบไม่ทัน 1 ต.ค.นี้

19 พ.ค. 2563 | 08:12 น.

“คมนาคม” ลุยแก้ระบบ “ตั๋วร่วม” เหตุติดโควิด-19 กระทบบีทีเอส-MRT พัฒนาข้ามระบบไม่ทันใช้ 1 ต.ค.นี้ สั่ง สนข.ปรับแผนพัฒนาระบบต่อเนื่อง เร่งชง ครม.ไฟเขียว

 

 

 

 

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ขณะนี้ที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาตั๋วของระบบขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ให้สามารถใช้ข้ามระบบกันได้ โดยจะเริ่มใช้ตั๋วร่วมข้ามระบบกับรถไฟฟ้า 3 สาย ประกอบด้วย บัตรแรบบิทของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว บัตรแมงมุม และบัตร MRT plus ที่ใช้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน แต่เวลานี้ได้รับรายงานว่าอาจไม่ทันตามเป้าหมายที่กำหนด อาจต้องเลื่อนออกไปไม่เกินสิ้นปีนี้ จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการในวันที่ 1 ต.ค.63 ขณะเดียวกันบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างพัฒนาระบบของบีอีเอส และ MRT ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทดสอบระบบในแล็ปได้ ทำให้การทำงานเกิดความล่าช้า ทั้งนี้ได้สั่งการให้บีอีเอสและMRT ต่อรองกับผู้พัฒนาระบบให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรข้ามระบบ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ช่วยพิจารณาค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ซึ่งจะมีความชัดเจนหลังจากนายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารตั๋วร่วม(คนต.)แล้ว รวมถึงการคิดค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะไม่กระทบต่อค่าโดยสารของผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการจะต้องตกลงกันเอง”

 

 

 

 

 

นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สนข.ประมวลระบบตั๋วร่วมของประเทศไทยใหม่ทั้งหมด โดยกำหนดไทม์ไลน์และแผนการพัฒนาตั๋วร่วม ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวว่าจะเป็นรูปแบบใด เช่น ระยะเร่งด่วน จะใช้บัตรโดยสารข้ามระบบมีกี่เส้นทาง ขณะที่ระยะยาวนำไปสู่การใช้บัตรEMVจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ทั้งนี้แผนการพัฒนาใช้บัตรข้ามระบบให้สามารถใช้ได้กับรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และเรือด่วนต่างๆ รวมถึงทางด่วนและมอเตอร์เวย์ด้วย หากแล้วเสร็จให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารตั๋วร่วมพิจารณาก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับบัตรแมงมุมที่เป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.1 ล้านใบ จะหมดอายุในเดือน ต.ค.65 จากนั้นบัตรทุกใบจะถูกเปลี่ยนเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนเวอร์ชั่นเทคโนโลยีดิจิทัล มาตรฐาน EMV (Europay Mastercard and Visa) ขณะเดียวกันผู้แทนกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)และบริษัทขนส่งจำกัดบขส.ขอให้เพิ่มการใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับ 14 เส้นทางของ (บขส.)ที่ให้เอกชนวิ่งและ รถร่วมขสมก. โดยเรื่องนี้สนข.จะทำหนังสือเสนอคณะทำงานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณาต่อไป