เอาไงว่ามา เรียนออนไลน์ 1ก.ค.พร้อมมั้ย ครูใหญ่“ณัฏฐพล”

12 พ.ค. 2563 | 00:08 น.

เปิดภาคเรียน1กรกฎาคม2563 อาจพลิกโฉมระบบการศึกษาในบ้านเราไปโดยสิ้นเชิง ออกจากกรอบของการเรียนรู้ที่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยม

ใช่ครับ....ทุกๆ ครั้งที่เกิดความท้าทาย ย่อมนำมาซึ่งโอกาสเสมอ 

เช่นเดียวกับ “วงการการศึกษา” หลังจากที่ผ่านๆมามีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีมายาวนาน แต่ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ มองว่าหลังผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ อาจพลิกโฉมระบบการศึกษาในบ้านเราไปโดยสิ้นเชิง 

ที่กล่าวเช่นนี้ได้  เป็นเพราะเห็นความเคลื่อนไหวของภาคการศึกษาในประเทศไทยช่วงโควิด-19ระบาด  เริ่มสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ เตรียมพร้อมนำ “เทคโนโลยีด้านการศึกษา” หรือ “Educational Technology” มาใช้ในการเรียนการสอนทางไกล เรียนออนไลน์

ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพความเอาจริงของอนาคตระบบการศึกษาไทยทุกระดับชั้นเรียน ต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ยังทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ.เอง  ได้ทำการสำรวจความพร้อมของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ วางโมเดลสำหรับการเรียนออนไลน์ไว้แล้ว 3แบบ แบบแรกเป็นของนักเรียนชั้นอนุบาล1-3 แบบที่สองป.1ถึง ม.3 และแบบที่สามเป็นของนักเรียนชั้น ม.4-ม.6

ส่วนจะมีอะไรที่ควรจะทำเพิ่มเติมนั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กับ2รัฐมนตรีช่วย คือคุณหญิง กัลยา โสภณพนิช กับนางกนกวรรณ วิลาวัลย์  น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก การเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนเปิดภาคเรียน 1 กรกฎาคม 2563

แต่ที่น่าสนใจก็คือ การเตรียมการดังกล่าวเพียงพอแล้วหรือไม่ และถ้าไม่พอช่วงเวลาที่เหลือก่อนเปิดเทอม 1กรกฎาคม2563 จะต้องทำอะไรอีก เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนทางไกล เรียนออนไลน์ มีประสิทธิภาพประประสิทธิผลเต็มรูปแบบ

ดังนั้นก่อนที่จะเปิดภาคเรียนขอฝากไปถึงทุกคนทุกฝ่ายนำไปตกผนึกด้วยครับ

ทำไงให้ทั้งครูและนักเรียนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบท  คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีกับการศึกษา

ทำไงเพื่อให้แน่ใจได้ว่านักเรียน จะไม่พลาดการเรียนรู้ของพวกเขา และช่วยให้เส้นทางการเรียนของนักเรียน สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทำไงให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากออกจากกรอบของการเรียนรู้ที่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยม

ทำยังไงให้พ่อแม่ต้องมาเป็นหุ้นส่วน มามีส่วนร่วมวิถีการเรียนรู้แบบใหม่ด้วย 

ทำไงที่จะยกระดับทั้งครูและนักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง มีทักษะด้านดิจิทัล  การคิดวิเคราะห์  การแก้ปัญหา การสร้างความร่วมมือ  หวังช่วยให้ทุกฝ่ายมองมิติการศึกษาได้กว้างขึ้น เพื่อขยายผลไปสู่การเชื่อมโยง และบูรณาการ ทำงานร่วมกัน ในหลากหลายมิติต่อไปในอนาคต

 

ทำไงการเรียนการสอนแบบใหม่ไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำกับเด็กต่างจังหวัด

ทำไงให้รัฐบาล มองเรื่องการศึกษามีความสำคัญพอๆกับด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือด้านอื่นๆ

ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะคลายแรงกดดันของพ่อแม่ผู้ปกครองว่าลูกๆเรียนแบบไม่เสี่ยงไปตายดาบหน้า

ต้องไม่ลืมว่าครอบครัวไทยได้ปล่อยให้การศึกษาเป็นเรื่องของเด็กกับครูมานานแล้ว

น่าสนใจว่าเวลาที่เหลืออีกเดือนกว่าๆ จะเตรียมความพร้อมกันได้ทันหรือไม่