นายกฯยื่นคำขาดโอกาสครั้งสุดท้าย ฟื้นฟู"การบินไทย" (คลิป)

05 พ.ค. 2563 | 05:38 น.

แผนฟื้นฟูการบินไทย ยังไม่เข้าครม. นายกฯ ยื่นคำขาดเป็นโอกาสครั้งสุดท้าย ต้องฝ่าตัดครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้างองค์กร ผู้บริหาร พนักงาน การลดรายจ่าย

5 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ยังไม่มีการนำแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมครม.วันนี้  ซึ่งการฟื้นฟูเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่จะเสนอมา เพราะอยู่ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว ซึ่งใช้เวลามานานหลายปีพอสมควร

"และนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะดูแลตรงนี้ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ เพราะมันค่อนข้างยากที่จะมีการปรับทั้งในองค์กร บุคลากร ปรับโครงสร้างต่างๆทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการ ผู้บริหารและสหภาพแรงงาน ทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้าท่านยังคงไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดปัญหา และลำบากไปกว่านี้ เมื่อถึงเวลาก็มีกฎหมายทุกตัว เมื่อเข้าเกณฑ์ตรงนั้นก็ต้องไปตรงนั้น รัฐบาลก็เข้าไปดูแลไม่ได้ นี้คือส่ิงที่เป็นเหตุผลและความจำเป็น"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกฯยื่นคำขาดโอกาสครั้งสุดท้าย ฟื้นฟู"การบินไทย" (คลิป)

นายกฯกล่าวว่า วันนี้ การฟื้นฟูมีประมาณ 10 ประการ ที่เป็นแผนงานฟื้นฟูก็ต้องทำให้ได้ ฉะนั้นการที่จะให้เงินกู้หรืออะไรต่างๆไป ไม่ใช่ให้ไปแล้วใช้จนหมด แล้วทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้น ครั้งนี้ท่านต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด ก็ไม่ได้อย่างไปก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้น เพราะมันมีกฎหมายของท่านอยู่

นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้ยังไม่นำเข้าครม. พยายามให้ชี้แจงให้เกิดความชัดเจน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือ ขอร้องบรรดาลูกจ้าง พนักงานของการบินไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้แน่นอน และมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีการบินไทยอยู่ ทั้งนี้ ในเรื่องของการขายตั๋ว การจัดตั้งตำแหน่งต่างๆ การลดรายจ่ายต่างๆที่เกินความจำเป็น ต้องนี้ต้องนำมาแก้ไขทั้งหมด

"ผมให้เวลาไปแก้ไข 5 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ฉะนั้นครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ก็ต้องขอความร่วมมือจากบรรดาสหภาพต่างๆด้วย เพราะนั้นคือความเป็นความตายของท่าน อันนี้ก็ขอฝากไว้ด้วยและขอทำความเข้าใจด้วย"นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) มีทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยแผนการฟื้นฟูการบินไทยในระยะเร่งด่วน จะขอให้ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทย วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินกู้จำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน รวมถึงการจ่ายเงินเดือนพนักงาน

ส่วนแผนฟื้นฟูการบินไทยระยะที่ 2 คือ การเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่  เพื่อให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง  รวมทั้งจะมีการพิจารณาลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลง จาก 51.03% เหลือ 49%  เพื่อปลดการบินไทยออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ 

นอกจากนี้จะมีแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยจะแยกธุรกิจต่างๆของการบินไทย ออกมาเป็นบริษัทลูก ภายใต้การถือหุ้นของใหญ่ของการบินไทย ที่จะปรับสถานะป็นบริษัทโฮลดิ้ง สำหรับ 4 ธุรกิจที่จะแยกออกมาเป็นบริษัทลูก ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ครัวการบิน,บริการภาคพื้น,คลังสินค้า(คาร์โก้),การซ่อมบำรุงอากาศยานหรือฝ่ายช่าง 

ขณะเดียวกันจะมีแผนปรับลดพนักงานที่ ด้วยการเปิดโครงการสมัครใจให้ลาออก ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีการลดจำนวนพนักงานลง 30% จากปัจจุบันที่การบินไทยมีพนักงานทั้งหมดราว 2.1 หมื่นคน 

นอกจากนี้ยังมีแผนยกเลิกเส้นทางบินรวมกว่า 20 จุดบิน และลดจำนวนเครื่องบินลงเหลือ 64 ลำ จากปัจจุบันมีเครื่องบิน 82 ลำ โดยจะมีการขายเครื่องบินออกจากฝูงบินออกไป 18 ลำพร้อมทั้งยกเลิกแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท