เข้ม”ขายตั๋ว-อาหาร –เครื่องดื่ม” ในสถานีรถไฟ

03 พ.ค. 2563 | 10:49 น.

การรถไฟแห่งประเทศไทย แนะนำวิธี ปฏิบัติขายตั๋วโดยสาร- ขายอาหาร-เครื่องดื่มภายในสถานีรถไฟ ให้สอดคล้อง ข้อกำหนด มาตรา 9 พรก.ฉุกเฉินฉบับที่ 5 /ฉบับที่ 6   ดีเดย์เริ่มมีผลใช้ ตั้งแต่วันที 3 พ.ค. เป็นต้นไป

 

 

 

 

 

 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ข้อ 5 กำหนดให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และฉบับที่ 6 ข้อ 1 (1) ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานีรถไฟ และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 2/2563 ที่ได้ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2563  ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดและคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 2/2563 การรถไฟฯ จึงกำหนดวิธีปฏิบัติประกอบการขอซื้อตั๋วโดยสาร และการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มภายในสถานีรถไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ตามรายละเอียดดังนี้

 เข้ม”ขายตั๋ว-อาหาร –เครื่องดื่ม” ในสถานีรถไฟ 1. การจำหน่ายตั๋วโดยสาร  กำหนดให้พนักงานจำหน่ายตั๋วขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดที่รับรองหรือออกให้โดยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายก่อนจำหน่ายตั๋วทุกครั้ง

2. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานีรถไฟ กำหนดให้นายสถานีถือปฏิบัติ และควบคุมผู้ประกอบการ พนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ

2.1 ให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน

2.2 ให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และให้มีการคัดกรองอาการป่วย ไข้ จาม หรือเป็นหวัดสำหรับพนักงานบริการและผู้ใช้บริการตามขีดความสามารถ

2.3 ให้สถานีและผู้ประกอบการจัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

2.4 ให้นายสถานีและผู้ประกอบการลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

2.5 ให้นายสถานีและผู้ประกอบการจัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ ที่นั่ง ระยะห่างระหว่างการเดิน รวมถึงจัดให้มีพื้นที่รอคิว ที่มีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

2.6 ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด

 

สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางข้ามเขตจังหวัด จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองและต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น พร้อมหลักฐานการอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรการป้องกันตามที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง การรถไฟฯ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้