ธุรกิจการบินจะก้าวผ่านอย่างไร ในวิกฤติ COVID-19

02 พ.ค. 2563 | 09:00 น.

ผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งให้ประเทศทั่วโลกจากมาตรการ lock down ได้ส่งผลต่อธุรกิจการบินอย่างรุนแรง สายการบินทั่วโลก ต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากและถึงขั้นหยุดให้บริการโดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศ

 

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมิน เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2563 จะลดลงกว่า 48% เมื่อเทียบกับปีก่อน และจะส่งผลให้รายได้สายการบินทั่วโลกปรับลดลงกว่า 55% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือรายได้ของสายการบินทั่วโลกจะหายไปมูลค่า 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ธุรกิจการบินจะก้าวผ่านอย่างไร ในวิกฤติ COVID-19

 

รายได้ธุรกิจการบินหาย

ศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยจากเส้นทางระหว่างประเทศจะหดตัวกว่า 65% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ราว 8.2 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนราว 80% ของผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศทั้งหมด

 

EIC คาดการณ์ในกรณี base case นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยจะลดลงราว 67% เมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 39.8 ล้านคน เหลือเพียง 13.1 ล้านคนในปีนี้ และปัจจัยรองจากการหดตัวของชาวไทยที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้อีกด้วย รวมถึงรายได้จากเส้นทางบินภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง 45% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท

 

ดังนั้น รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปีนี้ จะมีแนวโน้มหดตัวราว 60% เทื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 1.21 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงกว่า 67% เมื่อเทีบกับปีก่อน เหลือเพียง 13.1 ล้านคน

กระทบขาดสภาพคล่อง

การขาดรายได้จากการหยุดให้บริการจะส่งผลให้สภาพคล่องของสายการบินสัญชาติไทยส่วนใหญ่ลดลงมากและสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้เพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

 

ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสายการบิน ได้ส่งผลให้บริษัทจัดอันดับเครดิตอย่าง Tris rating ได้ปรับลดอันดับเครดิตของบางสายการบินในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยทาง Tris rating ให้ความเห็นว่า จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในด้านการเงินและสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้จนกว่าการเดินทางทางอากาศจะคืนสู่ภาวะปกติ

 

ทั้งนี้ แม้สายการบินสัญชาติไทยหลายสายการบิน ได้เร่งปรับตัวด้วย พร้อมทั้งหารายได้เพิ่มเติมเพื่อรักษาตัวให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ด้วยการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน การพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่แล้วก็ตาม แต่ไม่เพียงพอ ซึ่งสายการบินของต่างประเทศภาครัฐของแต่ละประเทศได้ให้ความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินในหลายรูปแบบ ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในธุรกิจการบิน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการบิน และการพิจารณาให้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง

 

ภาครัฐต้องช่วยเหลือ

ขณะที่ของไทยนั้น ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การฟื้นตัวของธุรกิจการบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเปิดให้บริการเดินอากาศในเส้นทางที่จำเป็นและครอบคลุมจุดหมายปลายทางที่สำคัญ พร้อมทั้งช่วยแก้ไขและอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบต่างๆ

 

เช่น การขออนุญาตเดินอากาศ การต่ออายุใบอนุญาตของบุคลากร และการเจรจากับหน่วยงานกำกับในต่างประเทศ เป็นต้น และสุดท้ายการสร้างกลไกความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจสายการบินและภาคสาธารณสุขเพื่อช่วยกันในการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดและหาข้อสรุปแนวทางการเดินอากาศในช่วงฟื้นตัวที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐยังต้องพิจารณารายละเอียดในหลายมิติถึงความเหมาะสมและรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือแก่สายการบินของไทยที่ได้รับผลกระทบ เพราะธุรกิจการบินถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก แต่ภาครัฐจะต้องพิจารณาในอีกหลายประเด็นให้รอบคอบก่อน หากจะให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ ระดับความเหมาะสม และประโยชน์ที่จะได้รับ

 

อีกทั้ง ยังต้องพิจารณาถึงฐานะการคลังของประเทศ ที่จะต้องนำไปช่วยเหลือแก่ธุรกิจอื่นๆ และประชาชนอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3-6 พฤษภาคม 2563