MI เปิดโมเดลใหม่ รับ New Normal วงการเอเยนซี

02 พ.ค. 2563 | 04:01 น.

MI เปิดโมเดลใหม่ MMM รับ New Normal วงการเอเยนซี หลังชี้พิษโควิด-19 เล่นงานเม็ดเงินหาย ทุบสื่อโฆษณา OOH สื่อโรงหนังติดลบกราวรูด

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ผู้ให้บริการซื้อ - ขาย สื่อโฆษณา และวางกลยุทธ์ทางการตลาด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดว่าธุรกิจสื่อโฆษณาจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 เป็นต้นไป หากไม่มีเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกอื่นๆ เข้ามากระทบอีกระลอกจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก็น่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น เนื่องจากช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่เข้าใกล้เทศกาลเฉลิมฉลอง แต่อย่างไรก็ตามหากให้ประเมินแนวโน้มหรือเทรนด์ในตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะต้องรอดูสถานการณ์หลายภาคส่วน ทั้งมาตรการของรัฐบาล การระบาดของไวรัส พฤติกรรมผู้บริโภค เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประเมินสถานการณ์

 

อย่างไรก็ดี บริษัทมองหากโซลูชันในการทำงานใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น โดยล่าสุดได้เตรียมเปิดตัวโมเดล MMM หรือ Marketing Mix Model ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่สื่อออนไลน์ออฟไลน์ในรูปแบบโมเดลใหม่ให้แก่ลูกค้า ทั้งการวางแผนการตลาด ประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงจัดส่ง เข้ามาเสริมทัพบริษัท หลังจากที่พบว่าการมาของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาตลอดทั้งปีจะติดลบ 15-20% และเม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบในปีนี้จะเหลือเพียง 7.7 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มีเม็ดเงินโฆษณาทั้งออนไลน์และออฟไลน์กว่า 9 หมื่นล้านบาท

ภวัต เรืองเดชวรชัย

 

“วงการเอเยนซีจะเปลี่ยนไป เอเยนซีที่ไม่ใช่มีเดียเอเยนซีจะต้องทำงานได้หลากหลายขึ้น เพื่อรองรับเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยในส่วนของเราเองก็พร้อมมองหาโซลูชั นใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งวันหนึ่งเราอาจจะมีธุรกิจเหมือนอย่างดีทแฮล์มที่ทำการตลาดและขนส่งก็ได้”

 

ทั้งนี้จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้ภาพรวมธุรกิจสื่อโฆษณาไตรมาส 1 ติดลบ 6.2% อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ไม่ใช่ตัวที่เข้ามาดิสรัปต์วงการโฆษณาให้เปลี่ยนไป แต่เป็นตัวเร่งให้เทรนด์ในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นมาเร็วกว่ากำหนดเท่านั้นเอง ทั้งเรื่องของ เทรนด์ฟู้ดดีลิเวอรีที่เติบโตอย่างมาก เทรนด์คนยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่เริ่มจะหันมาใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กได้ เป็นต้น ซึ่งอะไรที่ควรจะเกิดในอีก 3-5 ปี เราก็ได้เห็นหมดแล้ว”

 

ขณะที่กลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้าน (OUT OF HOME) พบว่ามีการเติบโตติดลบ 30% จากปีก่อนที่เติบโต 5% หรือมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนสื่อโรงภาพยนตร์ ติดลบ 40% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเว้นระยะ (Social Distancing) การกักตัวอยู่แต่บ้านของประชาชน ทำให้ผู้ประกอบการหรือฝ่ายการตลาดลดงบประมาณในการใช้จ่ายส่วนนี้ลง

“เราไม่ได้บอกว่าอยากให้รัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์ ที่ใช้ในการป้องกันการระบาดของไวรัสแต่มองเพียงว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นการปลดล็อกมาตรการก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณาให้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น”

 

ขณะที่กลุ่มสื่อออนไลน์ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ยังคงเป็นกลุ่มเดียวที่มีการเติบโตแม้จะพลาดเป้าจากเดิมที่มีการประเมินไว้ที่ 20% เหลือเพียง 12-13% เท่านั้น ซึ่งแนวโน้มในอนาคตสื่อออนไลน์ยังคงเป็นสื่อที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สื่อทีวีแม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์) แต่ทว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังมีการกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 กลับทำให้ภาพรวมสื่อทีวีมีเรตติ้งเพิ่มขึ้น 15% จากการที่ผู้ชมอยู่ติดบ้านจึงรับชมข่าวสารมากขึ้น

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2563