แบงก์แตะเบรก ปล่อยสินเชื่อใหม่ Q1ยังทรงตัว

03 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้แนวโน้มสินเชื่อชะลอลงถึงครึ่งปีหลังเหตุแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อใหม่ พบไตรมาสแรกทรงตัว เอ็นพีแอลยังไหลต่อเนื่องค่ายบัวหลวงเงินฝากออมทรัพย์-ประจำเพิ่ม กรุงไทยธุรกิจรายใหญ่ขยายตัว 8.3% ค่ายไทยพาณิชย์คลีนโลนและ Small SMEs นำโด่งเป็นผลจากกลยุทธ์เน้นผลตอบแทนสูง CASA แตะ 72.7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 12.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.81 แสนล้านบาทจากเดือนก่อนหรือ 1.52% โดยหลักๆ เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ประกอบกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังขยายตัวได้ในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้คาดว่า แรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อที่ลดลง และเริ่มทยอยเบิกใช้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในเดือนถัดๆ ไป น่าจะช่วยให้สินเชื่อประคองการเติบโตได้ในช่วงเดือนข้างหน้า แต่จากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน และสินเชื่อปล่อยใหม่น้อยลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น่าจะทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 7.54 แสนล้านบาทหรือ 5.76% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 13.86 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากเดือนมีนาคม เร่งตัวขึ้นเกือบทุกธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่เป็นการขยับขึ้นในกลุ่มเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นที่มีความปลอดภัยในยามที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ มีความเสี่ยงและผันผวนค่อนข้างมาก

 

แบงก์แตะเบรก  ปล่อยสินเชื่อใหม่  Q1ยังทรงตัว
 

สำหรับภาพรวมเงินให้สินเชื่อไตรมาส 1 ปีนี้พบว่า ส่วนใหญ่สินเชื่อทรงตัว มีเพียงส่วนน้อยที่ยังเติบโต เช่น ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อยมีเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.7% หรือ 54,641 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ โดยสินเชื่อ ที่ยังขยายตัวได้ดีมาจากการเกษตรและเหมืองแร่ที่ขยายตัว 17.9% รองลงมาเป็นสินเชื่อการสาธารณูปโภคและบริการขยายตัว 11% สินเชื่ออื่นๆ ขยายตัว 5.3% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างขยายตัว 3% และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 2.5% ขณะที่เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 143,539 ล้านบาท หรือ 6.1% จากสิ้นปีก่อนและเพิ่มขึ้น 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากออมทรัพย์ 106,195 ล้านบาท และเงินรับฝากประจำ 39,420 ล้านบาท

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์

 

ด้านธนาคารกรุงไทย สินเชื่อรวมขยายตัว 1.9% โดยเป็นการเติบโตจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่ขยายตัวถึง 8.3% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตามมาตรฐาน TFRS9 ชั้นที่ 3 มี 112,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีก่อนอยู่ที่ 102,659 ล้านบาท ส่วนเงินฝาก (โดยเฉพาะออมทรัพย์) เพิ่มขึ้น 9.1% จากสิ้นปีก่อน  สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ (หลังหักรายได้รอตัดบัญชี) ต่อเงินรับฝากที่ 90.49% ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 96.94%

 

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ แม้สินเชื่อรวมหดตัว 1.4% แต่สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต) เพิ่มขึ้น 16.1% เป็น 126,011 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 108,515 ล้านบาท สอดคล้องกลยุทธ์ของธนาคารที่เน้นการเติบโตของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและธนาคารใช้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดและมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่นเดียวกับสินเชื่อ Small SMEs ที่ขยายตัว 2.7% ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ให้ผลตอบแทนสูงภายใต้เกณฑ์การพิจารณาที่รัดกุมและเข้มงวด ส่วนเงินฝากเพิ่ม 7.5% สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) เพิ่มเป็น 72.7% และ สิ้นเดือนมีนาคมสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก 92.1% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 97.9%

 

ในส่วนของธนาคารทีเอ็มบี มีเงินให้สินเชื่อเพิ่ม 0.8% จากสิ้นปีก่อน มาจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย 0.5% ซึ่งมาจากสินเชื่อกลุ่มเช่าซื้อที่ขยายตัว 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและสินเชื่อ ลูกค้าธุรกิจขยายตัว 1.3% สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อลูกค้าบรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ โดยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 1.5% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเงินเบิกเกินบัญชี ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอลขั้นที่ 3) อยู่ที่ 44,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 37,746 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562

 

 ฟากธนาคารกรุงศรี เงินให้สินเชื่อขยายตัว 2.9% จากสิ้นเดือนธันวาคมปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัว 6.9% (บรรษัทไทยขยายตัว 6.8% และบรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติขยายตัว 7.2%) ส่วนสินเชื่อเพื่อรายย่อยขยายตัว 0.1% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อเช่าซื้อ 11,790 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรวม 425,982 ล้านบาท รองลงมาคือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 0.5% ส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 6,222 ล้านบาทหรือ 15.1% เป็น 47,556 ล้านบาทจาก 41,334 ล้านบาท 

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯให้ความเห็นว่า แนวโน้มสินเชื่อยังอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวสูง และไตรมาส 2 คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะปรับลดลงจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บวกกับดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะลดลงอีก นอกจากนี้ธนาคารต่างๆ จะต้องตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว

 

ในส่วนของสินเชื่อ แม้คนอยากกู้ แต่ความเสี่ยงสูง แบงก์ก็ต้องคิดมากขึ้น ส่วนเงินฝากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันยังไม่น่าสนใจ เชื่อว่า ถ้ากลับมาเปิดเมืองได้น่าจะเห็นนักลงทุนกลับไปหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน -2 พฤษภาคม 2563