โยกงบ“แสนล้าน”ไม่พอ ต้องล้างไพ่งบคมนาคม

25 เม.ย. 2563 | 07:25 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3569 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-29 เม.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          พิษภัย “สงครามโรค” จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้นำมาซึ่งการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุด ขนาดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะหดตัวติดลบ 5.3% จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3% ในปี 2564

          คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีแรงงานตกงานถึง 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคม 38 ล้านคน คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด 

          กลุ่มธุรกิจที่จะโดนหนักแบ่งออกไปดังนี้ ธุรกิจบันเทิงจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน ร้านอาหาร 2.5 แสนคนสปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน โรงแรม 9.78 แสนคน

          ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน อสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน สิ่งทอ 2 แสนคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน

          ลึกลงไปอีก กกร.ประเมินว่า แรงงานที่อาจตกงาน 7.13 ล้านคนนี้ จะเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ถึง 6.7 ล้านคน คิดเป็น 95% ของคนตกงาน

          ขอบอกว่า อาการหนักจริงๆ ครับ

          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ จึงไม่มีใครคัดค้านการกู้ยืมเงินก้อนโตของรัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนำมาเยียวยาและหาทางฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ผงกหัวขึ้นมาได้

 

          เพราะหากไม่ทำ คนจะตายกันทั้งประเทศ

          และยิ่งสนับสนุนแนวทางการตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของรัฐบาลลุงตู่ เพื่อโอนมาใช้ในงบกลางนำมาเยียวยาผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.โอนงบ 100,395 ล้านบาท ที่จะนำเข้าสภาพิจารณาวาระ 1 ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ กันสนั่นเมือง

          สนับสนุนยังไม่พอ ผู้คนยังเชียร์ให้ตัดงบลงมาอีก!

          เพราะอะไรนะหรือครับ เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภานั้น เป็นการตั้งงบประมาณบนพื้นฐานเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์อีกแบบหนึ่ง

          แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น บอกเราชัดว่า งบประมาณรายจ่าย งบการลงทุนที่ตั้งไว้เดิม ไม่สามารถตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้จริง!

          ผมจะไม่ลงรายละเอียดว่า ตัดงบที่ไหน อย่างไร แต่จะขอชมด้วยใจไปยัง “นายกรัฐมนตรี” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กัดฟันตัดงบหน่วยงานความมั่นคงที่ตัวเองดูแลลงมาถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

          ผมขอชื่นชมกระทรวงการคลัง ที่เสนอให้มีการปรับงบชำระหนี้ที่ตั้งไว้เดิม เป็นเงินต้น 3.56 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย 919 ล้านบาท ด้วยวิธีการขยายอายุพันธบัตรออกไป เพราะนี่คือการบริหารจัดการเงินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ทันท่วงที รัฐบาลจะได้มีเงินมาหมุนใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น

          แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการไปตัดลดงบประมาณในส่วนของเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2,400 ล้านบาท มาใช้เพื่อเยียวยาโควิด-19 เพราะนั่นคือการทำให้หลักประกันในเรื่องชีวิตและการรักษาโรคของคนในประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่ยากจนอาจมีปัญหาได้

          ร้ายกว่านั้น ผมขอเรียกร้องให้นายกฯลุงตู่ ไปพิจารณาทบทวนการตัดลดเพื่อโยกงบออกจากกระทรวงคมนาคมที่ “รัฐมนตรีโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ตัดมาให้แค่ 3,453 ล้านบาทเท่านั้น น้อยกว่ากระทรวงศึกษาธิการที่เป็นการยกระดับพัฒนาคนที่ยอมเฉือนเนื้อไป 4,792 ล้านบาท...มันเป็นไปได้อย่างไรกัน!

 

          งบประมาณของกระทรวงคมนาคม ในปี 2563 ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 208,315 ล้านบาท กว่า 1.7 แสนล้านบาท เป็นงบลงทุน สำหรับ 86 โครงการ แบ่งเป็น กรมทางหลวง 6 โครงการ วงเงินรวม 124,506 ล้านบาท, กรมทางหลวงชนบท 3 โครงการวงเงินรวม 653 ล้านบาท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2 โครงการ วงเงินรวม 3,124  ล้านบาท, การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2 โครงการ วงเงิน 14,235  ล้านบาท

          ผมเชื่อว่าในแผนงานทั้งหมดนั้น สามารถตัดงบเพื่อโอนมาใช้เยียวยาพิษโควิด-19 ได้อีกมาก ถ้าลุงตู่กล้าที่จะทำ และถ้าเสนอแผนไปยังรัฐสภาที่จะพิจารณากันคงไม่มีใครคัดค้านแน่นอน

          เพราะอะไร เพราะแผนงานลงทุนด้านคมนาคมในขณะนี้ ไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของโลก ที่จะแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย

          การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่วางแผนคิดกันไว้ในปี 2562 ไม่ตอบรับกับโลกที่กำลังแปรเปลี่ยนไปในปี 2563 อีกแล้วครับ เพราะการเดินทางของผู้คนจะแปรเปลี่ยนไปจากเดิม

          ยิ่งเมื่อผมไปตรวจสอบข้อมูลการลงนามในรายการรายจ่ายลงทุนประจำปี 2563 ของกระทรวงคมนาคม ร่วม 11,085 โครงการ วงเงิน 118,403 ล้านบาท

          ผมพบว่า มีการลงนามไปแล้วตั้งแต่ ตุลาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563 แค่ 3 โครงการ วงเงิน 3,467 ล้านบาท เดือนมีนาคม 2563 ลงนามในสัญญาไปร่วม 2,000 โครงการ วงเงินแค่ 7,634 ล้านบาท ที่เหลือยังไม่มีการลงนามทั้งสิ้น เมื่อยังไม่มีการลงนามย่อมมีการยืดระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้แน่นอน....เอ๊ะหรือว่า รัฐมนตรีไม่ยอม!

          Please ไปตัดงบเหล่านี้ลงมาเถอะลุงตู่! ผู้คนจะโมทนาสาธุ

          เอาสักหมื่น สองหมื่นล้านบาท โอนมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและเยียวยาคนที่กำลังจะตายจากเศรษฐกิจที่พังพาบ ช่วยคนตกงานได้บานตะไทครับลุง!