“คมนาคม” ดึงเอกชน ร่วมเดินรถไฟเต็มกำลัง

24 เม.ย. 2563 | 10:11 น.

“คมนาคม” ดึงเอกชน ร่วมบริการเดินรถไฟ เต็มที่ หลังศักยภาพการใช้รางต่ำ สั่ง รฟท.-ขร.-สนข. จัดแผนปฏิบัติการ หวังใช้ประโยชน์ทางรางต่อเนื่อง เตรียมชง คนร.

  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุม การพัฒนาระบบรางเป็นรถไฟทางคู่ เพิ่มการขนส่งทางราง 30% และการสนับสนุนเอกชนร่วมบริการระบบราง ว่า จากข้อมูลการขนส่งสินค้าทางรถไฟ พบว่า ปัจจุบันมีรถไฟ 151 ขบวน ที่ขนส่งสินค้า ซึ่งส่งสินค้าได้ 10.50 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 1% ของการขนส่งทุกระบบ ถือว่ายังใช้ศักยภาพรางในระดับที่ต่ำมาก ขณะเดียวกันปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังมีหนี้สินอยู่กว่า 1.6 แสนล้านบาท จึงมอบให้ รฟท., กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จัดทำแผนปฏิบัติการ(แอคชั่นเพลน) การใช้ประโยชน์จากรางรถไฟให้มากขึ้น โดยเฉพาะการดึงเอกชนร่วมเป็นผู้ให้บริการเดินรถ โดยให้เวลาดำเนินการ และกลับมาเสนอกระทรวงคมนาคมภายใน 1 เดือน

  “ขณะเดียวกันการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับ รฟท.ในปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรค เพราะ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 62 ยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องการออกกฎเกี่ยวกับการให้เอกชนมาลงทุนใน รฟท. ซึ่งตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เร่งผลักดันเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะเวลานี้ รฟท. เป็นยักษ์หลับที่ต้องปลุกให้เป็นยักษ์ขึ้นมาจริงๆ เพื่อทำงานให้ประชาชน และให้ รฟท. กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม”

สำหรับแผนปฏิบัติการ  เบื้องต้นต้องกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ รฟท. ขนส่งสินค้าทางรถไฟได้เพิ่มมากขึ้น 30% จากปัจจุบัน 10.2 ล้านตัน เป็น 13.26 ล้านตันภายในปี 64 นอกจากนี้ต้องเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบ ETCS ซึ่งเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพราะขณะนี้ตารางเวลาการเดินรถยังว่างอยู่ สามารถให้รถไฟเดินรถได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ต้องทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ได้การบริการที่ดี และค่าโดยสารต้องไม่แพง

 

อย่างไรก็ตามต้องส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกองตู้เก็บสินค้า และสถานีขนถ่ายสินค้า โดยผู้ประกอบการขนส่งทางบก ต้องร่วมกับ รฟท. หรือเอกชน เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้มาขนส่งทางรถไฟแทน ซึ่งแทนที่รถบรรทุกต้องวิ่งระยะทางไกลๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นการวิ่งรถนำตู้คอนเทนเนอร์มาส่งที่สถานีรถไฟ และไปรับที่สถานีขนส่งปลายทางแทน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มาก และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งที่รวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ พนักงานขับรถไฟ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันพบว่ายังขาดแคลนอยู่ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพัฒนาบุคลากรในการเดินรถให้มากขึ้น ทั้งพนักงานขับรถ และช่างเครื่อง.