ส่องมาตรการปลดล็อกดาวน์ WHO เตือนเร็วไป “ได้ไม่เท่าเสีย”

22 เม.ย. 2563 | 07:38 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกโรงเตือนว่า โควิด-19 ที่ดูเหมือนจะชะลอตัวลงในหลายพื้นที่ อาจกลับมาระบาดอีกครั้งหากหลายประเทศเปิดเศรษฐกิจ “เร็วเกินไป”

 

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” เร็วเกินไป อาจทำให้ไวรัสดังกล่าวกลับมาระบาดอีกครั้ง  ดร.ทาเคชิ คาซาอิ ผู้อำนวยการประจำแปซิฟิกตะวันตกของ WHO กล่าวว่า เวลานี้จึงยังไม่ควรผ่อนคลายมาตรการ และประชากรโลกต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้

 

นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องตื่นตัวเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเว้นระยะห่างทางสังคม จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพของประชาชนกับเศรษฐกิจของประเทศ

 

คำเตือนดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO มีขึ้นหลังจาก รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกเริ่มวางแผนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง เรามาดูกันว่า มีประเทศอะไรกันบ้าง

อันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

1) เยอรมนี เตรียมผ่อนคลายมาตรการจำกัดการใช้ชีวิตของประชาชน หลังจากมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศลดลงในช่วงเดือนนี้

 

 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมานับจนถึงเช้าวันอังคาร(21 เม.ย.) เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 1,323 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 147,065 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 220 ราย ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 4,862 ราย

      

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอที่จะให้มีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า การผ่อนคลายมาตรการอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มมากขึ้น  ขณะที่พรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) ของนางแมร์เคิล ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ และไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ ทางพรรค CDU เพียงระบุว่า กำลังพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้

2) อิตาลี เตรียมผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ 4 พ.ค.นี้ นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี เปิดเผยว่า อิตาลีเตรียมที่จะประกาศผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 4 พ.ค. และจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี

 ผู้นำรัฐบาลอิตาลีกล่าวผ่านเฟซบุ๊กว่า เขาอยากจะพูดประกาศ “เปิดเศรษฐกิจ” ของอิตาลีในตอนนี้เลย ถ้าทำได้ก็อยากจะเปิดพรุ่งนี้เช้าด้วยซ้ำ แต่การทำแบบนั้นคง “ไร้ความรับผิดชอบ” เนื่องจากเส้นกราฟของผู้ป่วยคงพุ่งทะยานขึ้นจนควบคุมไม่ได้ และทำให้ความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาต้องสูญเปล่า เขาย้ำว่า ต้องดำเนินการทุกอย่างตามแผนการ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาสถานการณ์ประกอบอย่างเหมาะสม

 

3) สหรัฐ-อังกฤษ ย้ำจุดยืนร่วมมือใกล้ชิดเพื่อเปิดเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์วานนี้ (21 เม.ย.)ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ยืนยันที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดผ่านกลุ่ม G7 และ G20 เพื่อเปิดเศรษฐกิจโลกขึ้นมาอีกครั้ง ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวานนี้ “เราจะสร้างความมั่นใจว่าการดูแลทางการแพทย์และเวชภัณฑ์จะเข้าถึงผู้ยากไร้ได้ทั้งหมด”

 

ปัจจุบันทั้งสหรัฐฯและอังกฤษต่างก็เป็นประเทศที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทะลุ 800,000 รายแล้ววานนี้ (21 เม.ย.) และยอดผู้เสียชีวิตกว่า 43,900 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ มีรายงานในวันเดียวกันว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วประเทศอยู่ที่ 129,044 ราย และมียอดผู้เสียชีวิต 17,337 ราย

ส่องแผนปลดล็อกของประธานาธิบดีทรัมป์

สื่อต่างประเทศหลายแห่งซึ่งรวมถึงสำนักข่าว CNN และ CNBC รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดเผยแนวทางใหม่ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขในการเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในรัฐที่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลง หลังจากที่หลายมลรัฐทั่วประเทศ ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมาเป็นเวลานานนับสัปดาห์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

"เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญของเราได้ตกลงร่วมกันว่า เราจะเริ่มรุกเข้าสู่แนวหน้าของยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ ซึ่งเรียกว่า 'Opening Up America Again' อย่างไรก็ดี สหรัฐจะยังไม่เปิดเศรษฐกิจพร้อมกันทั้งหมดทุกรัฐภายในคราวเดียว แต่จะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความระมัดระวัง

การประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหรัฐฯ

แผน "Opening Up America Again" ซึ่งมีความยาว 18 หน้าระบุว่า หลายพื้นที่ในสหรัฐฯมีความจำเป็นต้องให้พนักงานเริ่มกลับเข้าทำงาน แต่ผู้ว่าการของแต่ละมลรัฐ จะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการยกเลิกมาตรการที่เข้มงวดในแต่ละพื้นที่

 

แผนปลดมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ระยะ และจะนำไปใช้กับรัฐและภูมิภาคต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในเกณฑ์ “น่าพอใจ” ในแง่ต่าง ๆ อาทิ การมีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ชะลอตัวลงเป็นเวลา 14 วัน และมีโครงการตรวจไวรัสให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขด้วย

 

สำหรับในระยะที่ 1 นั้น กำหนดว่าโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กจะยังคงปิดทำการ และบริษัทต่าง ๆ จะยังคงสนับสนุนให้พนักงานทำงานทางไกลหรือทำงานจากที่บ้าน ส่วนสถานที่ขนาดใหญ่ เช่น สถานที่ให้บริการรับประทานอาหาร โรงภาพยนตร์ และโรงยิมออกกำลังกาย จะต้องดำเนินการภายใต้กฎการเว้นระยะห่างทางกายภาพที่เข้มงวด แต่สถานที่จำพวกบาร์จะยังคงปิดให้บริการต่อไป

 

ส่วนในระยะที่ 2 ซึ่งรัฐและภูมิภาคต่าง ๆ จะเข้าสู่เกณฑ์ระยะนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีอัตราการติดเชื้อในรอบ 14 วันลดลงเป็นครั้งที่ 2  หากอยู่ในระยะนี้ จะอนุญาตให้ประชาชนสามารถเดินทางในกรณีที่ไม่จำเป็นได้ ขณะที่โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กก็สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ส่วนสถานที่จำพวกบาร์ อาจเปิดดำเนินการได้โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ

 

สุดท้าย ระยะที่ 3 ซึ่งรัฐและภูมิภาคต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ระยะนี้ได้ ต้องได้รับการยืนยันว่าไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก หลังจากนั้นจะอนุญาตให้ประชาชนสามารถเริ่มกลับเข้าทำงานในสถานที่ทำงานต่าง ๆ ได้

 

อย่างไรก็ดี แผนการดังกล่าวยังไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะสามารถเปิดเศรษฐกิจสหรัฐฯได้อีกครั้งเมื่อใด แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะเคยออกมากล่าวว่า บางรัฐอาจจะสามารถเปิดเศรษฐกิจได้ก่อนเดือนพ.ค.นี้