Remdesivir ความหวังพิชิต “โควิด-19”

18 เม.ย. 2563 | 05:32 น.

เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโคโรนาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคซาร์สและเมอร์ส เมื่อหลายปีที่แล้ว กำลังเป็นความหวังของทั่วโลกในขณะนี้ว่า จะเป็นยาที่นำมาใช้ต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” อย่างได้ผลเช่นกัน

นิตยสารด้านสุขภาพ STAT News รายงานว่า ผลการทดสอบยาต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เรมเดซิเวียร์ ซึ่งผลิตโดยบริษัท กิเลียด ไซเอินส์ (Gilead Sciences) ผู้ผลิตยาต้านเอดส์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา พบว่า ยาเรมเดซิเวียร์สามารถใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนหายดีได้

 

 ยาชุดนี้ได้ผ่านการทดลองยาในระยะ 3 ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและได้รับยาเรมเดซิเวียร์ สามารถฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากอาการไข้และปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ เกือบทุกคนมีอาการดีขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

Remdesivir ความหวังพิชิต “โควิด-19”

แคทลีน มุลเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าววว่า ข่าวดีก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับยาตัวนี้หายดีจนกลับบ้านได้แล้ว และมีผู้ป่วยเพียง 2 รายเท่านั้นที่เสียชีวิต ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยชิคาโกได้ทำการทดลองยาเรมเดซิเวียร์ในผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 125 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 113 คน

 

ข่าวความสำเร็จในการทดลองใช้ยาดังกล่าวรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้ตลาดต้อนรับเชิงบวกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 เม.ย.) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 800 จุด

 

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์บรู๊ซ เอลเวิร์ด ซึ่งเป็นแพทย์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาเรมเดซิเวียร์ว่า ยาดังกล่าวเป็นยาเพียงตัวเดียวในขณะนี้ที่มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 หลังจากที่เคยมีการทดสอบกับผู้ป่วย 2 รายในเมืองอู่ฮั่นของจีน  นอกจากนี้ ในเวลาต่อมายังมีการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นในวันรุ่งขึ้น

 

 แต่ ณ จุดนี้ ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหวังอย่างมากเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาเรมเดซิเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งได้ออกมาให้ความเห็นว่า ยังคงต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน บริษัท กิเลียดฯ เองยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ว่า ยังต้องมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองใช้ยาเพื่อหาข้อสรุปออกมา ส่วนมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ชิคาโกแถลงว่า การด่วนสรุปใด ๆในช่วงเวลานี้ นับว่าเร็วเกินไป และยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับ  

Remdesivir ความหวังพิชิต “โควิด-19”

หน่วยงานวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกนและบาร์เคลย์ส ออกหนังสือเตือนนักลงทุนและให้ความเห็นเกี่ยวกับการทดลองใช้ยาเรมเดซิเวียร์กับผู้ป่วยโควิด-19 ในขั้นตอนที่3 ซึ่งเป็นขั้นล่าสุดว่า แม้จะเป็นข่าวเชิงบวกและให้ความหวัง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าผลสรุปอย่างเป็นทางการยังไม่ได้ออกมา และส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงเรื่องบอกเล่าที่ยังต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ

 

สำหรับข้อมูลที่รายงานโดย STAT News นั้นมาจากข้อมูลการหารือกันเป็นการภายในของคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งมีการบันทึกวิดีโอไว้ แต่ไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ออกโดยบริษัท กิเลียดฯ ผู้ผลิตยา หรือโดยหน่วยงานหลักที่ทำการทดลอง นอกจากนี้ ข้อมูลของ STAT News ยังมาจากหน่วยทดลองเพียงหน่วยเดียว

 

เจพีมอร์แกนให้คำแนะนำแก่นักลงทุนว่า “ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างมากที่เราไม่รู้ ดังนั้น จึงไม่อยากให้ทุ่มความหวังมากจนเกินไปในผลการทดลองที่มาจากหน่วยทดลองเพียงหน่วยเดียวและยังไม่มีการจำกัดกลุ่มตัวอย่าง(ผู้ป่วย)”

 

รอผลการทดลองอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข่าวดีที่ว่า ผลการทดลองยาเรมเดซิเวียร์ระยะที่ 3 ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการรุนแรง คาดว่าจะสามารถสรุปผลอย่างเป็นทางการออกมาในเร็ว ๆ นี้  โดยทางบริษัท กิเลียดฯ ผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์ ระบุว่าน่าจะได้ข้อมูลทั้งหมดจากการทดลองยากับผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรงภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนการทดลองยากับผู้ป่วยอาการปานกลางคาดว่าจะได้ข้อมูลภายในเดือนพฤษภาคม

 

ซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ รายงานว่า นอกเหนือจากการทดลองยาเรมเดซิเวียร์ในผู้ป่วย 2 กลุ่มดังกล่าวโดยบริษัท กิเลียดฯ แล้ว  ยังมีการทดลองคู่ขนานกันไปโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ของสหรัฐฯด้วย โดยเป็นการทดลองระยะที่ 2 ที่มีการควบคุมและจำกัดตัวแปรหลายๆด้าน

 

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ผลสรุปการทดลองทางคลินิกของบริษัท กิเลียดฯ เกี่ยวกับการทดลองยาเรมเดซิเวียร์ในผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรงที่จะออกมาในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ เป็นข้อมูลที่อาจจะช่วยสนับสนุนให้มีการอนุมัติรับรองการใช้ยาจากหน่วยงานของทางการ หรือทำให้มีการขยายขอบเขตการใช้ยา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาคือการรักษา ไม่สามารถหยุดยั้งโรคระบาด แต่การค้นพบยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาก็จะเป็นตัวเชื่อมโยงนำไปสู่สิ่งที่จะสามารถหยุดยั้งโควิด-19 ได้ในที่สุด นั่นก็คือ วัคซีนป้องกันโรค