"ฐานข้อมูลอาชีพคนไทย"แก้โวยรับ5พัน

17 เม.ย. 2563 | 09:44 น.

"วรวรรณ" เสนอรัฐ ทำฐานข้อมูลอาชีพคนวัยทำงานไทยทั้งประเทศ เพื่อให้การจัดสวัสดิการของรัฐตรงตัวไม่สับสนหนุนประกันสังคมขยายคุ้มครองสิทธิลูกจ้างตกงานจากผลกระทบโวคิด-19 เหตุเป็นภัยพิบัตินอกเหนือการควบคุม  

 

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการขยายสิทธิทดแทนการว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนม.33 ของคณะกรรมการประกันสังคม ว่า ในหลักการแล้วเห็นว่าเหมาะสม เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานายจ้างและลูกจ้างได้ร่วมจ่ายสมทบเข้ากองทุนไว้เพื่อประกันเหตุไม่คาดคิด ดังนั้น เมื่อมีเหตุที่มิใช่เกิดจากการกระทำของนายจ้าง แต่เกิดจากเหตุปัจจัยนอกเหนือการควบคุม เหตุโรคระบาดครั้งนี้ถือว่าเป็นภัยพิบัติธรรมชาติ เขาก็ควรได้รับการคุ้มครอง เห็นด้วยว่าเมื่อไหร่เป็นความเสี่ยงที่เขาไม่ได้ทำ ก็ควรต้องได้รับการดูแล 
"ฐานข้อมูลอาชีพคนไทย"แก้โวยรับ5พัน     

มีประเด็นตามมาว่าแล้วเงินกองทุนมีเพียงพอหรือไม่ ที่ผ่านมากองทุนทดแทนการว่างงานเราเก็บในอัตราค่อนข้างต่ำ และไม่ได้มีปัญหาขนาดใหญ่ที่เกิดการว่างงานจำนวนมาก ๆ ที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้สามารถสะสมกองทุนทดแทนการว่างงานไว้ได้มั่นคง เรื่องของเงินกองทุนไม่มีปัญหา เชื่อว่าตามกรอบอัตราการจ่ายทดแทนและระยะเวลาที่ตั้งไว้ มีเงินในกองทุนการว่างงานที่สะสมไว้มากเพียงพอรองรับเพื่อดูแลคนว่างงานได้ 

 

ส่วนการประเมินตัวเลขคนว่างงานจากผลกระทบโรคโควิด-19 ครั้งนี้ที่คาดว่าจะมีถึง 7-10 ล้านคนนั้น ดร.วรวรรณเห็นว่าไม่น่าจะถึง  ในทางการแพทย์อาจประเมินว่าโรคระบาดจะลากยาวไปถึง 18 เดือน แต่ในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะเริ่มทะยอยกลับมาดำเนินการ เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 3 เดือนก่อน แต่ถ้ายังเลวร้ายอยู่ก็ต้องมาประเมินกันอีกครั้งเมื่อพอเห็นภาพที่ชัดเจน "อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติประเมินว่าจีดีพี.ไทยจะติดลบไป 5% ถ้าเป็นตัวเลขนี้ยังน้อยกว่าวิกฤติปี 2540 ที่เราก็ผ่านมาแล้ว" 
    

ดร.วรวรรณกล่าวด้วยว่า ในภาพรวมของการดูแลประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้น เห็นว่ารัฐควรมีเกณฑ์การดูแลคนแต่ละกลุ่มที่สอดคล้องใกล้เคียงกัน เช่น อัตรา 5,000 บาท 3 เดือน ไม่ควรให้มีความลักลั่น เพราะถ้ามีความแตกต่างกันของการให้ความช่วยเหลือ จะทำให้คนแต่ละกลุ่มที่ได้น้อยดิ้นรนเพื่อให้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการดูแลมากกว่า จนทำให้เกิดการบิดเบือนของข้อมูล
 

นอกจากนี้มีข้อเสนอในภาวะที่คนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างมากในเวลานี้ว่า กระทรวงการคลังควรใช้โอกาสนี้ในการทำฐานข้อมูลประชากรวัยทำงานของไทยทั้งหมด ซึ่งมีคนอยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 37.87 ล้านคน แรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 16.7 ล้านคน มีข้อมูลพร้อมแล้ว ยังขาดในส่วนของแรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพอิสระต่าง ๆ ซึ่งรัฐไม่มีฐานข้อมูลประชากรส่วนนี้ที่สมบูรณ์ไว้เลย ทำให้จะเห็นได้ว่าในระยะหลังที่ภาครัฐมีมาตรการเติมสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละครั้งจะมีปัญหาว่าไม่ถึงตัวกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำแท้จริง 
    

 

ทั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานเท่านั้นว่า ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และประกอบอาชีพที่ 1 คืออะไร อาชีพที่ 2 คืออะไร เท่านั้นพอ ไม่ต้องถามว่ารายได้เท่าไหร่ เพื่อให้คนไว้วางใจ และใช้เป็นข้อมูลฐานสำหรับการจัดสวัสดิการแห่งรัฐไปให้ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง โดยเจ้าของข้อมูลต้องแจ้งปรับปรุงข้อมูลทุกครั้งที่เปลี่ยนอาชีพ และอาชีพอิสระส่วนใหญ่จะทำงานมากกว่า 1 อย่าง 
    

ข้อมูลดังกล่าวหากเป็นสถานการณ์ปกติยากที่ประชาชนจะยอมให้ข้อมูลกับรัฐ เพราะไม่ไว้วางใจ และกลัวจะถูกเอาไปใช้ประเมินภาษี จึงไม่ต้องให้ระบุรายได้ และรายได้ของอาชีพอิสระจะไม่ค่อยแน่นอน มีความผันผวนสูง ถึงถามไปก็ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงอยู่ดี แต่ในช่วงนี้ที่คนประสบปัญหาในวงกว้าง มีคนไปขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิ 5 พันบาท 3 เดือนในโครงการเราไม่ทิ้งกันนับ 20 ล้านคน ทั้งที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก เป็นโอกาสที่รัฐควรรีบทำ
    

ซึ่งฐานข้อมูลอาชีพคนไทยนี้เพื่อให้รัฐใช้เป็นฐานตั้งต้นในการหาตัวกลุ่มประชากรเป้าหมายที่จะจัดสวัสดิการหรือให้ความช่วยเหลือได้ต่อไปอย่างตรงเป้าหมาย ไม่สับสนเช่นที่ผ่านมา