'การบินไทย'เสี่ยงสูงไม่มีเงินจ่ายหนี้-เงินเดือนพนักงาน

17 เม.ย. 2563 | 07:55 น.

​​​​​​​บล.ยูโอบี ฯ  วิเคราะห์ฐานะการเงิน 'การบินไทย' มีความเสี่ยงสูงไม่มีเงินชำระหนี้-เงินเดือน แนะผ่าทางตันปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ แปรสภาพเป็นเอกชน ลดพนักงาน 50%

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมการการบินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดูแย่อยู่แล้ว เพราะรายได้จากการบินหายไป 100% และจะกลับมาบินเมื่อไรยังไม่รู้แต่ต้นทุนเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ในกรณีของบมจ.การบินไทย ( THAI ) ในช่วง 2 ปีจะมีกระแสเงินสดเข้ามาปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะส่วนนี้ต้องชำระเป็นดอกเบี้ยปีละ 4,500 ล้านบาท และยังต้องใช้ลงทุนต่างๆปีละกว่า 3,500 ล้านบาท ที่เหลือยังต้องไปชำระหนี้เงินกู้กับเจ้าหนี้ต่างๆ

ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท (หนี้สถาบันการเงินและหนี้ผ่อนเครื่องบิน)  ดังนั้นจึงไม่มีความสามารถที่จะใช้คืน และในสถานการณ์ขณะนี้ด้วยยิ่งอยู่ภาวะเงินตึงมากๆ แม้จะมีสินทรัพย์มากถึง 1.4 แสนล้านบาท แต่เป็นทางด้านเครื่องบินจึงไม่มีประโยชน์ในสถานการณ์นี้

'การบินไทย'เสี่ยงสูงไม่มีเงินจ่ายหนี้-เงินเดือนพนักงาน

"การบินไทยมีรายได้ประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท และเมื่อหักรายจ่ายจะเหลือกระแสเงินสดปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท  เป็นรายจ่ายประจำด้านพนักงานปีละ 12,000 ล้านบาทยังไม่รวมรายจ่ายค่าบิน และยังมีดอกเบี้ยจ่ายปีละ 4,500 ล้านบาท 

ในขณะที่แต่ละปีการบินไทยต้องการเงินระดับใน 20,000 ล้านบาทอยู่แล้ว แสดงว่าปีนี้การบินไทยต้องขาดเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งการจะหาสถาบันการเงินปล่อยกู้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายตราบที่แผนธุรกิจยังไม่เสร็จ และหากยังไม่มีการอัดฉีดเงินเข้ามา ก็มีความเสี่ยงที่การบินไทยอาจต้องหยุดชำระเงินเดือนและไม่สามารถคืนหนี้สถาบันการเงิน

นายกิจพณ มองว่า สถานการณ์ของการบินไทยต่อให้ไม่เจอเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดช-19 ก็นับถอยหลังอยู่แล้วแต่เมื่อมาเจอกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งเร่งให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ดังนั้นวิกฤติสภาพคล่องของการบินไทยครั้งนี้ อาจนำไปสู่การผ่าตัดโครงสร้างครั้งสำคัญอย่างจริงจัง และแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน ไม่เช่นนั้นแล้ว การบินไทยจะไปไม่รอด

ปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นการบินไทย 5 อันดับแรก  ประกอบด้วย 1.กระทรวงการคลัง ถือหุ้นสัดส่วน 51.03%, 2.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือ 7.56%, 3.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือ 7.56% ,4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือ 3.28% และ 5.ธนาคารออมสินถือ 2.13%

นายกิจพณ กล่าวต่อว่า  คีย์สำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงการคลังจะต้องถือหุ้นเท่าไร เพราะธุรกิจการบินไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปทำ หรือกระทรวงการคลังจะเข้าไปถือหุ้นเกิน 50% เพราะอาจเป็นอุปรรคต่อกระบวนการทำงานให้ยากขึ้น เช่นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจต้องดำเนินงานตามงบประมาณแผ่นดิน

ฉะนั้นถ้าทำให้การบินไทยเป็นเอกชน และไม่ผูกติดด้วยระเบียบทางราชการ หรือมาตรฐานในเรื่องการเบิกจ่ายตามภาครัฐ ก็มีทางเดียวคือกระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้น เปิดทางให้เอกชนเข้ามาบริหารอย่างเต็มที่

'การบินไทย'เสี่ยงสูงไม่มีเงินจ่ายหนี้-เงินเดือนพนักงาน

ต่อคำถามที่ว่าส่วนการนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าตองใช้เวลา 3-6 เดือนในการหาแผนฟื้นฟู มองว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่ช้าไป เพราะสถานการณ์ขณะนี้คงหาผู้ที่มีรายได้ที่มีศักยภาพซื้อไม่ใช่ง่าย เพราะต่างเจอสภาวะผลกระทบจากโควิดไม่ต่างกัน 

"ต่อให้มีการมาเปิดเมืองช่วงพฤษภาคม - มิถุนายน 2563 แต่กว่าที่คนจะกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินในระดับที่สร้างรายได้พอจะเปิดบินได้  คงต้องใช้ระยะเวลาเช่นกัน  นอกจากนีปัญหาหนึ่งในการบินไทย ยกตัวอย่างการประเมินผลงานดีดี ต้องถูกประเมินโดยบอร์ด และสหภาพแรงงาน ซึ่งหากให้ประเมินทุก 6 เดือนส่วนใหญดีดีจะไม่รอด ยกเว้นเป็นคนของการเมืองส่งมา ขณะที่การจะเปลี่ยนแปลงการบินไทยให้ได้ผลอาจตองใช้เวลาเป็นปีสองปี เพื่อให้ได้ผ่านจุดต่าง ๆ สุดท้าย

ดังนั้นจึงเชื่อว่าวิกฤติการบินไทยครั้งนี้ จะนำไปสู่การผ่าตัดองค์กรครังใหญ่ เพราะปัญหาการบินไทยไม่ใช่มีเงินอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้ ยังต้องขึ้นกับความสามารถการแข่งขัน ขึ้นกับการตลาด หรือสรุปแล้วกาบินไทยต้องเป็นบริษัทเอกชน เพื่อให้การบริหารมีความคล่องตัว แก้ปัญหาในการเอื้อประโยชน์ให้ภาครัฐหรือนักการเมือง การตัดด้านสวัสดิการ และการต้องลดพนักงานลงครึ่งหนึ่ง

ราคาหุ้นการบินไทย (THAI ) ปิดภาคเช้า (17 เมษายน) ยืนที่ 7.15 บาท  เพิ่มขึ้น 0.80 บาทหรือ+12.60% มูลค่าการซื้อขาย 313.78 ล้านบาท ราคาปิดสูงสุด 7.25 บาทและต่ำสุด 6.70 บาท โดยปรับขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้ซึ่งปิดที่ 6.35 บาท  เพิ่มขึ้น 0.80 บาท หรือ +14.41

ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนตุลาคม 2562 การบินไทยได้จัดทำแผนการกู้เงินประจำปี 2563 ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาจำนวน 50,800 ล้านบาท ต่อมาสบน.ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณา

แม้ว่าข้อเสนอของการบินไทยจะได้รับการอนุมัติ แต่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้พิจารณาการกู้เงินของการบินไทยภายใต้แผนฯ ประจําปีงบประมาณ 2563 แล้ว มีความเห็นว่า แม้ว่าการบินไทยยังมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ไม่ตํ่ากว่าเกณฑ์ขั้นตํ่า 1 เท่า 

แต่พบว่าการบินไทยมีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดําเนินกิจการทั่วไปเป็นจํานวนมาก โดยขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนฯ ประจําปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 50,800 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดําเนินกิจการทั่วไป วงเงิน 32,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 24,800 ล้านบาท

แสดงให้เห็นว่าการบินไทยประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและมีเงินสดไม่เพียงพอในการดําเนินงาน อีกทั้งยังมีผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2562 ขาดทุน 6,538.37 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ กระทรวงคมนาคม ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยไปพิจารณาดําเนินการตามความเหมาะสมต่อไป