เยียวยาพิษโควิด-19 เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

11 เม.ย. 2563 | 06:30 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3565 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย.63

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาในขณะนี้ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าปี 2540 เพราะปัญหาครั้งนั้นเกิดจากภาคธุรกิจ สถาบันการเงินปล่อยกู้เกินตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์มีหนี้สิน แต่ประชาชนไม่ได้ถูกกระทบ ยังสามารถกลับไปทำงานที่บ้านในต่างจังหวัดได้

แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก การส่งออกไทยที่สร้างรายได้มากกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่มาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ก็เป็นสาเหตุทำให้กำลังซื้อหดหาย ส่งผลต่อภาคกำลังการผลิต การเลิกจ้าง ทำให้เศรษฐกิจหดมากขึ้น ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดลงมื่อใด

ปัญหาที่เกิดขึ้นนำสู่การออกอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 มูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-12% ของจีดีพี ผ่านการออกพ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ 1.พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.ก.ให้ ธปท. ออก Soft loan ช่วยเหลือ SMEs มูลค่า 5 แสนล้านบาท และ 3.พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินมูลค่า 4 แสนล้านบาท

โดยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เพื่อใช้ในมาตรการดูแล เยียวยา และแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 6 แสนล้านบาท และอีก 4 แสนล้านบาทเป็นการฟื้นฟู พัฒนายกระดับสร้างอาชีพในชุมชน ซึ่งดร.อุตตม ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

จากข้อมูลภาวะการมีงานทำ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ณ เดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยมีกำลังแรงงานรวม 37.87 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.18 ล้านคน ว่างงาน 4.06 แสนคน แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.76 แสนคน และเคยทำงานมาก่อน 2.3 แสนคน

ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ และการค้า ภาคการผลิต และภาคเกษตร ตามลำดับ และเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดพบว่าผู้มีงานทำของไทยอยู่ในภาคเกษตร 10.2 ล้านคน ภาคการผลิต 8.9 ล้านคน ภาคบริการและการค้า 18 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มอาชีพ ที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างไร เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก จนต้องปิดกิจการ ทำให้ลูกจ้างในธุรกิจท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนประสบปัญหาว่างงาน แต่กลับไม่มีสิทธิได้รับการชดเชย 62% ของค่าจ้าง จากระบบประกันสังคม เพราะรัฐบาลไม่ได้สั่งให้ปิดกิจการ จึงไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิตามมาตรา 79/1 ของประกันสังคม ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างกดดันให้รัฐบาลแก้ปัญหา

เราจึงเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออกมา จะต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง