มาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก

14 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงภายหลังที่สหรัฐฯชะลอการปรับขึ้นภาษีการค้าต่อสินค้าจีน ตัวเลขผลการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อแสดงความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี นับจากวันที่ 23 มกราคม 2563 เศรษฐกิจโลกได้พบกับความท้าทายใหม่จากการที่รัฐบาลจีนประกาศปิดการเข้าออกของประชาชนในเมืองอู่ฮั่น และอีกหลายเมืองสำคัญ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคระบาด ซึ่งได้รับชื่ออย่างเป็นทางการภายหลังว่า COVID-19 หลังจากนั้นผ่านไปอีกเกือบ 2 เดือน ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) นั่นคือ การติดต่อของโรคระหว่างคนสู่คนที่ระบาดไปทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของไวรัสลุกลามไปยังประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ จนถึงปัจจุบันการระบาดของ COVID-19 ยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น

มาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก

เป็นที่แน่ชัดว่า การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาล่าสุดชี้ว่า เศรษฐกิจโลก มีโอกาสถดถอยอย่างรุนแรงในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในหลายด้าน ทั้งมาตรการควบคุมการระบาดของผู้ติดเชื้อจากภาครัฐ เช่น การกักบริเวณพื้นที่พบผู้ติดเชื้อ การห้ามเดินทางเข้าออกประเทศที่พบการระบาด การประกาศหยุดกิจกรรมรื่นเริง หรือการปิดสถานที่สาธารณะที่สำคัญ เป็นต้น ในส่วนพนักงานเองก็ได้รับผลกระทบจากการถูกลดชั่วโมงการทำงานและบางรายก็ถูกเลิกจ้าง

ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่ผลกระทบจะทวีความรุนแรง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของกิจการที่มีหนี้สินในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศได้ออกทั้งมาตรการการคลังและมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสและลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ต้องหยุดกิจการ รวมถึงการป้องกันการขาดสภาพคล่องของภาคส่วนธนาคาร อาทิเช่น สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการการคลังวงเงินสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือขนาดกว่า 11% ของ GDP ขณะที่ในยุโรปเอง เฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส 2 ประเทศ ก็ออกมาตรการการคลังรวมกันกว่า 1.3 ล้านล้านยูโร หรือกว่า 9.5% ของ GDP ยูโรโซน

สำหรับมาตการทางการเงินของสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัดจำนวนเงิน เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการช่วยเหลือนี้ครอบคลุมถึงภาคธนาคาร ภาคเอกชน และยังเป็นการช่วยสนับสนุนสภาพคล่องดอลลาร์แก่ธนาคารกลางอื่นๆ ด้วย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปก็ประกาศมาตรการซื้อสินทรัพย์ วงเงินรวมกว่า 8.7 แสนล้านยูโร โดยเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องครอบคลุมไปถึงภาคธนาคารและบริษัทเอกชน เช่นเดียวกัน

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563