พิษโควิด ทุบธุรกิจ ‘นักไลฟ์สด อินฟลูเอนเซอร์’

14 เม.ย. 2563 | 04:40 น.

M17  เผยโควิด-19 พ่นพิษ ผู้ค้ารายย่อยผวาไม่กล้าเสี่ยงลงทุน ธุรกิจบริการไลฟ์สดอ่วม สวนทางผู้ชมไลฟ์ขายสินค้าเพิ่มขึ้น 20% ด้านเทลสกอร์เดินหน้าเจาะตลาดธุรกิจเซ็กเตอร์ดาวรุ่ง พร้อมดึงอินฟลูเอนเซอร์จิตอาสาสยบเฟกนิวส์

นายอรรถพล สินฉลอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอ็มเซเว่นทีน เซอร์วิสเซส ไทยแลนด์  เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ทางฝั่งนักไลฟ์ส่วนที่เป็นการเทรนหรือสร้างนักไลฟ์อาจต้องหยุดไปก่อน เพราะในสถานการณ์นี้ยังไม่สามารถจัดฝึกอบรมได้ ซึ่งเทรนด์ที่เปลี่ยนไปคือ ปกติการไลฟ์จะต้องมีการส่งนักไลฟ์ไปที่ร้านค้าของลูกค้าแต่ในช่วงสถานการณ์นี้ร้านค้าจะต้องส่งของไปให้นักไลฟ์ที่บ้านแทน ขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ชมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากโดยมียอดการรับชมเพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 20% ต่อร้าน ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปในกลุ่มคนดูจะเป็นกลุ่มคนในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไปที่เข้ามาดูไลฟ์โดยในสถานการณ์นี้ M17 มีมาตรการและแนว ทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการลดราคาแพ็กเกจลง 40% และอาจมีการขยายระยะเวลาแพ็กเกจออกไปตามความเหมาะสม

พิษโควิด ทุบธุรกิจ  ‘นักไลฟ์สด  อินฟลูเอนเซอร์’

สำหรับการเติบโตของธุรกิจหลังจากที่มีการเปิดตัวไปมีนักไลฟ์ประมาณ 200-300 คน ขณะที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 500 คนที่สามารถรับงานได้ ปัญหาในช่วงนี้คือ เอสเอ็มอีหรือร้านค้าที่ต้องการใช้บริการนักไลฟ์มีการจ้างงานน้อยลงถึง 50% ซึ่งสินค้าที่ยังมีผู้ให้ความสนใจใช้บริการนักไลฟ์ในช่วงนี้คือ สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร เครื่องสำอาง อาหารเสริมก็ยังได้รับความนิยม M17 มีนักไลฟ์ที่พร้อมให้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 30% สำหรับผล กระทบในภาพรวมของธุรกิจอาจจะมีการปรับรายได้ลดลง ในไตรมาสที่ 2 ที่เคยตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 10% ของตลาดไลฟ์คอมเมิร์ซ ซึ่งในภาพรวมทั้งปียังมองเลขนั้นอยู่ แต่ในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะตกลง เพราะลูกค้าเอสเอ็มอีที่ตื่นตระหนกและไม่กล้าที่จะลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ M17 บนวิกฤติยังมีโอกาสเพราะช่วงนี้ผู้บริโภคมีเวลาในการใช้งานสื่อออนไลน์มากขึ้นทำให้มีผู้ชมการไลฟ์มากกว่า ปกติ แต่ขณะเดียวกันร้านค้าหรือธุรกิจขนาดเล็กก็มีความวิตกกังวลจึงทำให้หยุดการทำการตลาดในแบบต่างๆ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เอสเอ็ม อีหรือร้านค้าหยุดวิตกกังวลเชื่อว่าการกลับมาไลฟ์อีกครั้งจะเห็นผลที่แตกต่างออกไปตรงที่มีผู้รับชมมากขึ้น

 

ด้านนางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง เทลสกอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นการทำงานเพื่อสังคมเนื่องจากเทลสกอร์ได้รับการร้องขอให้นำอินฟลูเอนเซอร์ ไปช่วยคัดกรองข่าวปลอม (Fake news) และกระจายข่าวให้กับคนทั่วไปรับรู้ ปัจจุบันเทลสกอร์มีอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มราว 40,000 คน และมีอินฟลูเอนเซอร์อาสาเข้ามาเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 คน ซึ่งการทำตลาดในช่วงนี้จำเป็นที่จะต้องเจาะหาธุรกิจในเซ็กเตอร์ที่กำลังได้รับความนิยมและพยายามที่จะคิดโจทย์ร่วมกัน  มีการร่วมกันทำแผนในระยะยาวเพื่อที่หากสถานการณ์คลี่คลายลงธุรกิจที่ได้ตัดสินใจและวาง แผนร่วมกันจะกลายเป็นแบรนด์แรกที่ลูกค้าเห็นและนึกถึง

โดยภาพรวมการเติบโตของเทลสกอร์ลดลงแต่ตัวเลขยังไม่แน่นอนเนื่องจากฟีดแบ็กของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบยังอยู่ในช่วงไม่กล้าตัดสินใจก็จะมีการขอขยายระยะเวลาในการทำการตลาดของลูกค้าเข้ามา

 

ตอนนี้มีธุรกิจที่สบช่องจากวิกฤติ อาทิ อี-เลิร์นนิ่ง, อี-คอมเมิร์ซ, ดีลิเวอรี ซึ่งกลุ่มนี้มีการใช้งานกันเยอะ แต่ในขณะเดียวกันพวกงานอีเวนต์ต่างๆ ก็ต้องหยุดชะงัก ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ ถึงแม้จะมีธุรกิจ ที่แจ้งเกิดในช่วงนี้เข้ามาใช้บริการ แต่มันหักลบกันไม่ได้เรียกได้ว่าก็ยังเป็นขาลง เพราะโดยภาพรวมธุรกิจในปีนี้จริงๆ ตั้งเป้าการเติบโตไว้สูงกว่า  50% ตอนนี้คงไม่กล้าพูดได้เต็มปาก แต่เรายังเติบโตได้อยู่ยังเป็นสื่อ ที่คนนึกถึงและในช่วงที่คนใช้อินเตอร์ เน็ตมากขึ้นทำให้คนเห็นอินฟลูเอนเซอร์เรามากขึ้น

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563