ทุเรียนเฮ ล้งแย่งซื้อโลละ 130บาท

10 เม.ย. 2563 | 08:05 น.

สวนทุเรียนเฮ ราคาต้นฤดูพุ่งกิโลกรัมละ 120-130 บาท ล้งแย่งซื้อส่งจีนหลังโควิดคลี่คลาย แต่ติดปัญหาส่งได้เฉพาะทางเรือ ลาว-เวียดนามปิดพรมแดน ปี 2563

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดผลผลิตทุเรียนไทยทั่วประเทศจะมีประมาณ 1.16 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2562 ที่มีผลผลิต 1.01 ล้านตัน โดยผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) แหล่งใหญ่ของประเทศจะเริ่มทยอยออกมามากช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และส่งออกไปจีนเป็นหลัก

แต่จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (โควิด-19)ในจีนที่เวลานี้แม้จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ระบบการขนส่งในจีนยังล่าช้า แรงงานยังไม่กลับมาทำงานเต็มร้อย และใช้เวลาที่ท่าเรือเพิ่มขึ้น

ขณะที่คาดกำลังซื้อของชาวจีนจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบการส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีนที่อาจลดลง จากปีที่ผ่านมาไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 26,346 ล้านบาท อย่างไรก็ดีราคาทุเรียนต้นฤดูของไทยยังขายได้ราคาดี

นายภาณุวัชร์ ไหมแก้วนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ราคาทุเรียน(หมอนทอง)ที่เกษตรกรขายได้ ณ เวลานี้เฉลี่ยที่ 120-130 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) (ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 140-150 บาทต่อกิโลกรัม) ถือเป็นราคาที่ดี มีโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) มารับซื้อส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก

แต่การขนส่งยังสะดุด โดยเฉพาะการขนส่งทางบกโดยรถยนต์ที่ต้องผ่านลาวและเวียดนามที่ปกติใช้เวลา 3-4 วันก็ถึงจีน แต่ขณะนี้ส่งไม่ได้แล้ว เนื่องจากลาวและเวียดนามปิดพรมแดนไม่ให้รถผ่านเข้า-ออกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งออกได้ทางเดียวในเวลานี้คือทางเรือที่ต้องใช้เวลาเดินทาง 7-10 วันถึงตลาดปลายทางที่จีน

“เวลานี้ชาวสวนทุเรียนถือว่ายังยิ้มได้ ขายได้ราคาที่ดี แต่อนาคตก็ยังไม่แน่นอน เพราะเวลานี้จีนเพิ่งฟื้นจากโควิด-19 เศรษฐกิจและกำลังซื้อลดลง ต้องจับตาว่าตลาดปลายทางจะยังขายได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากยังไปได้ดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีผู้นำเข้าอาจขอลดปริมาณและราคาลงได้”

ทุเรียนเฮ  ล้งแย่งซื้อโลละ  130บาท

นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย กล่าวว่า คาดผลผลิตทุเรียนช่วงเมษายน-พฤษภาคมจะมีประมาณ 3 แสนตัน ห่วงผลผลิตไม่เพียงพอจากล้งแย่งกันซื้อ ซึ่งปีที่ผ่านมามีล้งขึ้นทะเบียนขอการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อส่งออกมีเพียง 200 โรง แต่ปีนี้มาขึ้นทะเบียน และผ่านการรับรองแล้ว 442 โรง และอยู่ระหว่างรอตรวจสอบอีก 121 โรง รวม 563 โรง และกำลังจะมีรายใหม่เพิ่มอีก มองว่าอาจเป็นดีมานต์เทียมหรือไม่

ส่วนที่เกรงจะเกิดปัญหาคือเกษตรกรจะตัดทุเรียนอ่อนเร่งส่งขายจากปัญหาภัยแล้ง และขายได้ราคาดี จะทำให้รสชาติ และภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทยเสียหาย เพราะผู้บริโภคหลายมณฑลของจีนก็ยังไม่เคยบริโภคทุเรียนไทย อาจเกิดความเข้าใจผิดได้

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ฯได้ประเมินผลกระทบจากโควิด-19 กับการส่งออกทุเรียนไทย โดยใช้กรอบผลกระทบเปรียบเทียบกับปี 2546 ที่เกิดโรคซาร์สระบาดในจีน ทั้งนี้คาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนและฮ่องกงใน 2563 จะลดลง 5 หมื่นตันถึง 1 แสนตัน มูลค่า 6,000-12,000 ล้านบาท

“ล่าสุดทางศูนย์ฯคาดการณ์ใหม่น่ากระทบไม่เกิน 3-5 หมื่นตัน มูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท จากจีนแก้ปัญหาโควิด-19 ได้เร็วกว่าที่คาด ขณะที่กำลังซื้อจีนลดลง, การล็อกดาวน์ของประเทศชายแดนจีน มีการตรวจเข้มคนขับรถ และชาวจีนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ ซื้อทุเรียนที่ตลาดสดลดลง ทำให้เส้นทาง
โลจิสติกส์เปลี่ยนไปทั้งการเก็บสินค้า และการขนส่ง”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9 - 11 เมษายน พ.ศ. 2563