ไบโอไทยจี้รัฐเปิดช่องรายเล็กผลิตแอลกอฮอล์แข่งปิดช่องค้ากำไรเกินควร

06 เม.ย. 2563 | 07:14 น.

ไบโอไทยจี้รัฐเปิดช่องรายเล็กผลิตแอลกอฮอล์แข่งรายใหญ่ ปิดช่องค้ากำไรเกินควร หลังเชื่อภาครัฐเปิดทางบริษัทใหญ่ขาย 'แอลกอฮอล์' ราคาแพง

เปิดเพจ BIOTHAI   หรือมูลนิธิชีววิถี นำแผนภาพการนำเอทานอลมาใช้ประโยชน์ประเภทต่างๆ ซึ่งแต่เดิมมีอยู่ 4 ประเภท มาแสดงให้เห็นว่า ทำไมการนำเอาเอทานอลซึ่งใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงมาขายเป็นผลิตภัณฑ์ล้างมือของผู้ประกอบการบางราย  จึงเป็นการค้ากำไรเกินควร

 

เดิมเอทานอล (แอลกอฮอล์ 99.5%) ประเภทนี้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรัฐยกเว้นภาษี รัฐกำหนดราคาขายซึ่งรวมกำไรของโรงงานแล้ว อยู่ที่ประมาณ 23-24 บาท/ลิตร  เพื่อนำมาผสมขายเป็นน้ำมัน Eต่างๆ โดยรัฐสนับสนุนผู้ค้าน้ำมันประมาณลิตรละ 7 บาท วันนี้เราจึงเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ลิตรละ 18.25 บาท  E85 ราคา 14.84 เป็นต้น

 

เมื่อ COVID-19 ระบาด รัฐเปิดทางให้ผู้ผลิตเอทานอล 99.5% (สามารถขายในรูปผลิตภัณฑ์ล้างมือได้ตามประกาศกรมสรรพสามิต เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ขายจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ โดยยกเว้นภาษีให้ด้วย มีเงื่อนไขให้ผู้ผลิตต้องแปลงสภาพเพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น เป็นสุรา เป็นต้น

 

การนำเอทานอลมาเจือจางเหลือ 70% หรือไม่ต้องมีขั้นตอนการกลั่นที่ทำให้ได้แอลกอฮอล์สูง 99.5%  อีกทั้งไม่ต้องมีมาตฐานทางเภสัช แต่กลับตั้งราคาขายหลายเท่าของราคาเดิมที่รัฐกำหนดไว้ 23-24 บาท จึงเป็นการแสวงหากำไรเกินควรของผู้ประกอบการ โดยการรู้เห็นเป็นใจของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

 

ไบโอไทยจี้รัฐเปิดช่องรายเล็กผลิตแอลกอฮอล์แข่งปิดช่องค้ากำไรเกินควร

ภาพประชาชนต่อแถวเข้าคิวยาวเหยียด  เพื่อซื้อแอลกอฮอล์ที่ขายในราคามากกว่า 100 บาท/ลิตร ไม่ใช่เรื่องที่เอามาอ้างได้ว่า ราคาสินค้านี้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่เป็นภาพที่น่าอับอาย เป็นการฟ้องประจานความไร้ประสิทธิภาพของรัฐที่ไม่สามารถจัดการการกักตุนและเก็งกำไรตั้งแต่ต้นมากกว่า

 

ไม่ว่าจะเป็นไปโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม  นี่เป็นการเอาประชาชนที่หวาดกลัวการติดเชื้อและเข้าไม่ถึงแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเป็นตัวประกัน เพื่อปล่อยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในสถานการณ์วิกฤตนั่นเอง

 

ข้อเสนอระยะสั้นในการแก้ปัญหาการขาดแคลนและการแสวงหากำไรเกินสมควร มีดังต่อไปนี้
1. ควบคุมราคาไม่ให้มีการแสวงหากำไรเกินสมควร หรือปล่อยให้มีการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพอย่างเต็มที่


2. ผู้ประกอบการและรัฐต้องมีมาตรฐานของแอลกอฮอล์ขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้แอลกอฮอล์ซึ่งใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

 

ประชาชนควรทราบว่าผู้ประกอบการเอทานอล 27 โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงานนั้ัน  มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสายการผลิตเอทานอลซึ่งมีมาตรฐาน food grade หรือมาตรฐานด้านเภสัช/สาธารณสุขด้วย

 

3. เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสุราชุมชนในประเทศไทยซึ่งมีประมาณ 2,500-3,000 ราย  ที่สามารถผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ล้างมือ/ฆ่าเชื้อ (แอลกอฮอล์ 70%)ได้แบบเดียวกับโรงงานเอทานอลขนาดใหญ่ 27 โรงงาน

 

ไบโอไทยจี้รัฐเปิดช่องรายเล็กผลิตแอลกอฮอล์แข่งปิดช่องค้ากำไรเกินควร

ขณะเดียวกัน เพจ BIOTHAI  ยังโพสต์ตั้งคำถามถึงรัฐบาลปล่อยให้บริษัทใหญ่ขายแอลกอฮอล์เกินราคาต้นทุนลักษณะค้ากำไรเกินควร โดยให้ข้อมูลดังนี้

 

1. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแนวทางดูแลเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงพลังงาน โดยแจ้งว่า บริษัทปตท.จะดำเนินการจำหน่ายแอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก และใช้ทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป ขนาด 1 ลิตร ต่อ 1 ขวด ในราคา 110 บาท โดยเริ่มจำหน่ายในวันที่ 4 เมษายน 2563 นี้

 

2. การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องของหลายฝ่ายให้รัฐบาลนำเอทานอล  ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันแกสโซฮอล์ให้นำมาทำความสะอาด หลังจากแอลกอฮอล์และเจลล้างมือขาดแคลนอย่างหนัก และมีพวกฉวยโอกาสขายในราคาแพง ประชาชนไม่สามารถซื้อหาแอลกอฮอล์สำหรับการล้างมือได้

 

3. กระทรวงการคลังได้แก้ปัญหา โดยออกประกาศกรมสรรพสามิตอนุญาตให้นำเอทานอลที่มีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80% ขึ้นไป หรือสุราสามทับ สามารถขออนุญาตผลิตแอลกอฮอล์เพื่อล้างมือทำความสะอาดได้ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตทั้งหมด 21 โรงงาน

 

4. สถิติเมื่อปี 2558 ไทยผลิตแอลกอฮอล์ได้ปริมาณ 1,173.8 ล้านลิตร หรือเฉลี่ย 3.2 ล้าน ลิตรต่อวัน โดยเป็นแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากกากน้ำตาล 759.2 ล้านลิตร จากน้ำอ้อย 68.8 ล้านลิตร และจากมันสำปะหลัง 346.0 ล้านลิตร คิดเป็นสัดส่วน 64.7 : 5.8 : 29.5 ตามลำดับ

 

ไบโอไทยจี้รัฐเปิดช่องรายเล็กผลิตแอลกอฮอล์แข่งปิดช่องค้ากำไรเกินควร

5. เมื่อวันที่ 2 เมษายน มูลนิเพื่อผู้บริโภคตั้งคำถามว่า "รัฐบาลปล่อยให้บริษัทใหญ่ค้ากำไรเกินควรไปมั้ย ?? กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ ยังมีชีวิตอยู่มั้ย? เติมแอลกอฮอล์ 85% หรือที่เรียกว่า E85 เต็มถังในรถ ลิตรละ ไม่ถึง 20 บาท มีให้เติมได้ไม่อั้น แต่แอลกอฮอล์ 70% ที่ตอนนี้จำเป็น จะเอามาฆ่าเชื้อโควิด หนึ่งลิตร วางแผนขายกัน 110 บาท"

 

6. ไบโอไทยตรวจสอบจากข้อมูลขององค์การสุรา พบว่าต้นทุนในการผลิตแอลกอฮอล์ถ้าทำจากมันสำปะหลังมีต้นทุนอยู่ที่ 23.25 บาทต่อลิตร ถ้าผลิตจากกากน้ำตาล ต้นทุนการผลิต 24.53 บาทต่อลิตร ในขณะที่รายงานเรื่อง "การศึกษาโครงสร้างการผลิตและราคาของเอทานอลที่เหมาะสมและเป็นธรรม" ของสถาบันวิทยาการพลังงาน ระบุว่า เมื่อรวมต้นทุนวัตถุดิบ(มันสำปะหลัง น้ำอ้อย หรือกากน้ำตาล) ต้นทุนการผลิต และรวมผลกำไรแล้ว ราคาเอทานอล (แอลกอฮอล์ 99.5%) ของประเทศไทยอยู่ที่ 23.37 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาเอทานอลของสหรัฐอยู่ที่ 15.69 บาทต่อลิตร และของบราซิลอยู่ที่ 18.9 บาทต่อลิตร

 

ไบโอไทยจี้รัฐเปิดช่องรายเล็กผลิตแอลกอฮอล์แข่งปิดช่องค้ากำไรเกินควร

 

7. การที่คณะรัฐมนตรีไฟเขียว แนวทางของกระทรวงพลังงาน โดยการปล่อยให้บริษัทใหญ่ขายแอลกอฮอล์ 70% ในราคา 110 บาทต่อลิตร ภายใต้คำขวัญว่า “ร่วมดูแลคนไทย ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน” นั้น ทำให้ประชาชนต้องซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อฆ่าเชื้อเกินสมควรมากถึง 4.7 เท่า เพราะราคาขายเอทานอล (ซึ่งมีแอลกอฮอล์ 99.5%) ที่กำหนดไว้เดิม มีราคาเพียง 23.37 บาทต่อลิตรเท่านั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ต่อให้แพงมากกว่านี้ชาวบ้านก็คงจำใจเข้าคิวรอซื้อ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

 

8. ก่อนหน้านี้องค์กรของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัดภาคกลางแห่งหนึ่ง ดิ้นรนสร้างทางเลือกให้ตนเองโดยนำสุราชุมชนไปกลั่นจนได้แอลกอฮอล์มากกว่า 70% เพื่อทำเจลล้างมือ แต่บัดนี้ถูกสกัดกั้นไม่ให้ดำเนินการเสียแล้ว เพราะถูกข่มขู่ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย

 

9. นโยบายเช่นนี้ของรัฐ เป็นการปกป้องเยียวยาประชาชนจำนวนมากที่กำลังอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ หวาดผวาจากการระบาดของโรคร้าย หรืออุ้มชูส่งเสริมบริษัทยักษ์ใหญ่ในการแสวงหากำไรเกินสมควรกันแน่ ?