CPALL – CPF แจงถือหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อลงทุน"กลุ่มเทสโก้เอเชีย"

12 มี.ค. 2563 | 04:14 น.

CPALL– CPF แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงเรื่องโครงสร้างการถือหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น เพื่อการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย   แหล่งเงินมาจากการกู้ยืมจากธนาคารและกระแสเงินสด คาดส่งผลให้อัตรา D/Eเพิ่ม แต่ไม่ผิดข้อปฏิบัติทางการเงิน

บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL  และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยอ้างถึงสารสนเทศที่ทั้งสองบริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 เกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท เทสโก สโตร์ส (ประเทศไทย) จํากัด (เทสโก้ประเทศไทย) และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) ทั้งนี้เทสโก้ประเทศไทยและเทสโก้ประเทศมาเลเซียต่อไปรวมกันเรียกว่ากลุมเทสโก้เอเชีย โดยการลงทุนของบริษัทดังกล่าวเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด

โดยบริษัทขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้การลงทุนของบริษัทในกลุ่มเทสโก้เอเชียจะเป็นการลงทุนรวมกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งของบริษัทตามนิยามที่กําหนดในประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง แต่คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแล้วเชื่อว่าโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวเหมาะสม และสะท้อนความสามารถของบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนของบริษัท ทั้งนี้บริษัทเชื่อมั่นว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัท และจะส่งเสริมธุรกิจของบริษัทตามที่ได้ระบุไว้ ในสารสนเทศเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ทั้งนี้หากภายหลังการลงทุนดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์แล้วและบริษัทได้ข้อ สรุปเกี่ยวกับมาตรการกลไกที่จะดูแลในเรื่องของความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพิ่มเติม (หากมี) บริษัทจะเรียนแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป

ขณะที่ในฐานะของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทได้ยึดถือปฏิบัติตามมาตรการกํากับดูแลและควบคุมภายในที่ดี ซึ่งรวมถึงมาตรการการดําเนินการเกี่ยวกับการเข้าทํารายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม เช่น ในการอนุมัติรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการที่มีส่วนได้เสียต้องออกจากห้องประชุมและไม่ออกเสียงในวาระนั้น และการกําหนดข้อตกลงทางการค้าที่มีเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไปเสมือนการทํารายการกับบุคคลภายนอก เป็นต้น

ทั้งนี้ CPALL ระบุว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทในการลงทุนในครั้งนี้ จะมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งแม้เงินกูดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ของบริษัทสูงขึ้น แต่จะไม่ทําให้บริษัทผิดขอปฏิบัติทางการเงิน(financial covenant) ใดๆภายใต้สัญญากู้หรือหุ้นกู้ใดๆที่บริษัทมีหนี้ค้างชําระอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้การเข้าทําสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นและไม่มีข้อจํากัดในการจ่ายเงินปันผลของบริษัท

ขณะที่ CPF ระบุว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทในการลงทุนในครั้งนี้จะมาจากกระแสเงินสดของกลุ่มบริษัทและการกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ของบริษัทสูงขึ้น แต่จะไม่ทําให้บริษัทผิดขอปฏิบัติทางการเงิน(financial covenant) ใดๆภายใต้สัญญากู้หรือหุ้นกู้ใดๆที่บริษัทมีหนี้ค้างชําระอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้การเข้าทำสัญญากู้เงิน (หากมี) ดังกล่าวจะไม่มีเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นและไม่มีข้อจํากัดในการจ่ายเงินปันผลของบริษัท ซึ่งหลังจากการเข้าทำรายการเสร็จสินและมีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนดังกล่าว บริษัทจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป