กนอ.สู้ภัยแล้งมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ลดใช้น้ำได้เกินเป้า 14%

02 มี.ค. 2563 | 06:18 น.

 กนอ. เผยตัวเลขการลดใช้น้ำในพื้นที่นิคมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์เกินกว่าที่ตั้งไว้โดยสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 14% ดัน 3 มาตรการหลักฝ่าวิกฤตแล้ง

 

 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับวิกฤติภัยแล้ง ร่วมกับผู้ประกอบการในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมอับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล พื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้มีการรายงานผลการดำเนินการปรับลดการใช้น้ำร้อยละ 10 (ประมาณ 7,711,200 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน) ตามที่ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในแต่นิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนการปรับลดการใช้น้ำ ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าว พบว่า การใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดระยอง มีปริมาณการใช้น้ำลดลงได้มากถึง 14 % (ประมาณ 7,394,175 ลูกบาศก์เมตร/เดือน) ผ่านแผนงานต่างๆ ที่นำมาปรับใช้ อาทิ การใช้ระบบ 3 Rs (Reduce : ลดการใช้ Reuse : นำกลับมาใช้ซ้ำ Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่) และขอความร่วมมือกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับผู้ประกอบกิจการ (Shutdown/Turnaround) ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กนอ.สู้ภัยแล้งมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ลดใช้น้ำได้เกินเป้า 14%

สมจิณณ์ พิลึก

 อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้เตรียมมาตรการที่จะรับมือกับภัยแล้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ พื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรีอย่างใกล้ชิด โดยได้กำหนดมาตรการรับมือ ประกอบด้วย การขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วและได้ผลเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ (คือทำได้ 14%) การหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ นำเข้ามาทางเรือ/ทางรถ และส่งต่อเข้าท่อส่งน้ำเดิมที่ กนอ.มีอยู่ โดยมีการแบ่งแยกประเภทของอุตสาหกรรมในการรับน้ำตามเขตพื้นที่แยกตามกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน กนอ.ก็มีมาตรการเสริมเร่งด่วนที่จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ในการดำเนินการนำน้ำจากคลองชากหมาก ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำฝนและน้ำทิ้งจากโรงงานในพื้นที่ มาผ่านการบำบัดโดยการรีไซเคิลด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis : ระบบบำบัดน้ำเสีย สารตกค้าง และเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ) โดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสหากรรมร่วมกันรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของการดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะสามารถผลิตน้ำได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าน้ำเพิ่มในส่วนนี้เพียงหน่วยละ 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าร่วมกับโครงการฯ แต่มีความประสงค์จะใช้น้ำจากมาตรการนี้สามารถขอรับน้ำได้ในราคาต้นทุน อยู่ที่ 72 บาทต่อลูกบาศก์เมตรได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในระยะแรกโครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน โดยผู้ประกอบการโรงงานที่สนใจสามารถตอบรับเข้าร่วมโครงการได้ที่ [email protected]

 “สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมานั้น จะไม่สำเร็จลงได้หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน ดังนั้น จึงความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันเสียสละเพื่อฝ่าวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ รวมทั้ง กนอ.จะหาแนวทางการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตภัยแล้งในระยะยาว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปีนี้มีสถานการณ์ต่างๆเกิดขึ้นที่ค่อนข้างเปราะบางและอาจส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม อาทิ ภัยแล้ง การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 และฝุ่น pm 2.5 จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตการณ์นี้ อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อไปในอนาคต”