‘หมอเสริฐ’เทกBH บอร์ดแข่งขันผวากุมอำนาจเหนือตลาด

02 มี.ค. 2563 | 00:30 น.

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน 5 แสนล้านสะเทือน “หมอเสริฐ” กินรวบ จ่อฮุบโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กำเงิน 8.56 หมื่นล้านบาท ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นอีก 75% ที่เหลือ ท่ามกลางความงงงันของตระกูล “โสภณพนิช” ที่ร่วมถือหุ้น บอร์ดแข่งขันทางการค้ายัน “ต้องขออนุญาตก่อน”

ตลาดหลักทรัพย์คึกคักขึ้นี เมื่อบอร์ดบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (บีดีเอ็มเอส) เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ ของนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แจ้งว่ามีมติอนุมัติให้เข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (บีเอช) ที่ราคาหุ้นละ 125 บาท จำนวน หุ้น 74.83% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงินทั้งสิ้น 8.56 หมื่นล้านบาท

บีดีเอ็มเอสของนพ.ปราเสริฐ ถือหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อยู่แล้วเป็นสัดส่วน 24.92% โดยมีบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในเครือธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นอันดับ 2 ที่ 14.65% และบุคคลในครอบครัว “โสภณพนิช” ร่วมถือหุ้นด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยมีนายหมวดตรีชัย โสภณพนิช เป็นประธานกรรมการ

ทั้งนี้ จากมุมมองผู้บริหารบีดีเอ็มเอส ในการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ระบุว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ส่งผลให้ความต้องการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยต่างชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ

รวมทั้งมองว่าบีเอช เป็นกิจการที่ดีและมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง มีความสามารถในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนสูง มีบุคลากรทางแพทย์ที่มีความชำนาญ และเป็นที่รู้จักของคนไข้ชาวไทยและต่างประเทศ จะช่วยเสริมยุทธศาสตร์การลงทุนของบีดีเอ็มเอส ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

ตีท้ายครัวโสภณพนิช

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า หากดีลนี้สำเร็จ บีดีเอ็มเอสจะซื้อหุ้นบีเอชได้ในราคาที่ถูกมาก โดยราคาหุ้นที่บีดีเอ็มเอสทำคำเสนอซื้อที่ 125.00 บาท คิดเป็นราคาเสนอซื้อที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (พี/อี) ของ
บีเอชเพียง 23.5 เท่า จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 25.32 เท่า และพี/อีเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ของบีเอชอยู่ที่ 31.91 เท่า จึงมองว่าการจะเข้าเสนอซื้อทั้งหมดมีโอกาสไม่สำเร็จ

ส่วนกรณี BH ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าทางผู้บริหารของบีเอชไม่คาดคิด และไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน เนื่องจากในอดีตบีเอชและบีดีเอ็มเอส ต่างดำเนินธุรกิจอย่างอิสระต่อกัน และปราศจากการประสานความร่วมมือทางธุรกิจใดๆ พร้อมระบุว่า บริษัทจะขอเข้าปรึกษาและให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การทำคำเสนอซื้อครั้งนี้ BDMS มองว่าหุ้นของ BH มีราคาถูกจึงต้องการเข้าซื้อหุ้นเพิ่ม แต่ปัจจุบัน BDMS ถือหุ้นอยู่ใน BH 24.92% หากเข้าซื้อหุ้นเพิ่มจะทำให้สัดส่วนเกินการถือหุ้นใน BH เกิน 25% ซึ่งตามกฎจะต้องมีการทำคำเสนอซื้อหุ้นอยู่แล้ว ทาง BDMS เลยมีประกาศออกมาในทีเดียวเลยว่าซื้อหุ้น BH ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามมีคำถามตามมาว่า การทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดบีดีเอ็มเอสได้หารือบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 สัดส่วน 14.65% ที่มีตระกูลโสภณพนิชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือไม่ เพราะการทำคำเสนอซื้อแบบนี้ปกติจะต้องเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ๆ ก่อนประกาศ แต่ครั้งนี้กลับไม่มีข้อมูลว่ามีการมีการเจรจากันมาก่อน จึงขึ้นกับตระกูล “โสภณพนิช” ว่าจะตัดสินใจข้อเสนอนี้อย่างไร

 ‘หมอเสริฐ’เทกBH  บอร์ดแข่งขันผวากุมอำนาจเหนือตลาด

เกณฑ์อำนาจเหนือตลาด

ขณะที่นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานบอร์ดการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ขณะนี้ดีลซื้อขายดังกล่าวยังไม่จบ คงต้องรอปิดดีลว่าจะเป็นอย่างไร หากดีลกันจบแล้วจะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจกับกขค. เพื่อทราบ และเพื่อขออนุญาตภายใน 7 วัน นับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสิ้น

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และในฐานะโฆษกคณะกรรมการ(บอร์ด) การแข่งขันทางการค้า ขยายความกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) ได้กำหนดในส่วนของการรวมธุรกิจ ซึ่งมีการกำหนดไว้ชัดเจนใน 2 กรณี กรณีที่ 1 หากรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด (ส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องดำเนินการขออนุญาต และได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน จึงจะสามารถทำการรวมธุรกิจได้

ต้องขออนุญาตก่อน

กรณีที่ 2 หากร่วมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง (ส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 50% และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจกับ กขค. ภายในระยะเวลา 7 วัน นับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสิ้น

“กรณีของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (บีดีเอ็มเอส) หากมีการดำเนินการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของ บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (บีเอช) จริงตามที่เป็นข่าว จะต้องขออนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็นลำดับต้นของประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้จำนวนผู้แข่งขันและสภาพการแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ.2563