เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนต้านภัยแล้ง

05 มี.ค. 2563 | 07:50 น.

จากการเล็งเห็น ปัญหาภัยแล้ง ที่ปีนี้จะมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี เอสซีจี จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และสยามคูโบต้า จัดโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564

องคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การส่งเสริม 108 ชุมชน ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก แต่มีความรักความสามัคคีที่เข้มแข็ง และพร้อมเรียนรู้ ใช้ “ความรู้คู่คุณธรรม” ช่วยกันบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ แก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วยตนเอง โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี

เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนต้านภัยแล้ง

 

เอสซีจีได้จัดสรรงบประมาณราว 30 ล้านบาท โดยมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์ฯ และเอสซีจี รวมทั้งสยามคูโบต้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงและให้ความรู้ และยังมีกำลังพลกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ร่วมสำรวจและพัฒนาพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หลายภาคส่วนยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เพราะฉะนั้น ชุมชนซึ่งมีความเข้าใจสภาพปัญหาและพื้นที่ของตัวเอง จึงต้องร่วมกันเก็บกักน้ำในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่มีน้ำ ให้พอใช้ในอีก 9 เดือนที่เหลือ เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ

หลักสำคัญที่จะทำให้ชุมชนแก้ปัญหาภัยแล้งได้ ประกอบด้วย 1. ต้องเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีความรู้และความสามัคคี พร้อมลุกขึ้นจัดการน้ำด้วยตนเอง2. มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้เคียง  3. หา ที่กักเก็บน้ำ โดยอาจปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำ และใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ กระจายน้ำสู่ชุมชน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม GPS และโซลาร์ฟาร์มเพื่อประหยัดไฟฟ้า ซึ่งถ้าทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันก็จะสามารถข้ามผ่านวิกฤติภัยแล้ง และมีน้ำกิน น้ำใช้ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนต้านภัยแล้ง

 

นอกจากนี้ เอสซีจียังแบ่งปันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วจำนวนประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ให้ชุมชนรอบโรงงานได้รับประโยชน์สำหรับทำการเกษตรในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พร้อมตรวจสอบคุณภาพน้ำและผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้น้ำบำบัดของโรงงานตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ในเหมืองทราย 8 แห่งและพัฒนาเหมืองเก่า 7 แห่ง ให้สามารถกักเก็บน้ำได้รวม 44.3 ล้านลบ.ม. เพื่อมอบให้เป็นแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ของชุมชน

 

เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนต้านภัยแล้ง