เคาะแน่ 3 รถไฟฟ้า นํ้าตาล-เทา-"ทองเฟส2"

11 ก.พ. 2563 | 03:10 น.

ไม่ว่าจะผ่านไปทางไหนจะเห็นการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้ากระจายเกือบเต็มพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร และทยอยเปิดเดินรถตามระยะทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้สัญจร อีกทั้งยังเปิดหน้าดินพัฒนาโครงการน้อยใหญ่ของภาคเอกชน คู่ขนานไปตามเส้นทางเกิดการจ้างงาน ผู้รับเหมาดึงความเจริญเข้าสู่พื้นที่

เห็นได้ชัดอย่าง ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ปัจจุบันเปิดเดินรถไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดไปจะวิ่งยาวไปถึงสถานีย่านสะพานใหม่,วงเวียนหลักสี่ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และเปิดเดินรถทั้งเส้นทางถึงคูคตได้ภายในปลายปีนี้

ขณะส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงินเปิดครบทุกเส้นทาง ทั้ง ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง/เตาปูน-ท่าพระ ช่วยให้การเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครไปมาหาสู่กันเพียงไม่กี่นาที

อีกเส้นทางที่จะเปิดให้บริการ โดยเริ่มทดลองเดินรถอย่างไม่เป็นทางการ คือสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ส่วนสายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีส้มตะวันออก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจน มีการวางคานบนตอม่อเป็นแนวยาวเรียกว่าอีกชั่วอึดใจคนเมืองไม่ต้องหวาดผวาเสียเวลากับปัญหารถติดอีกต่อไป เนื่องจากมีทางเลือกที่ดี และสะดวกกว่า

นอกจากนี้ ราวกลางปีนี้ ยังเตรียมประมูลรถไฟฟ้าอีก 2 สาย ทั้งสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และ สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่มีกลุ่มทุนให้ความสนใจจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสั่งการให้เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ต่อเนื่อง เชื่อมโยงให้ครอบคลุมทุกการเดินทาง อำนวยความสะดวกคนกรุง และพื้นที่ใกล้เคียง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น ไล่ตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสนํ้าตาล ช่วงแคราย-มีนบุรี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟม.)อนุมัติให้ก่อสร้างทับบนฐานรากทางด่วน N2 เพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)

เคาะแน่ 3 รถไฟฟ้า นํ้าตาล-เทา-"ทองเฟส2"

สำหรับความคืบหน้า ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบและทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งยังติดปัญหาค่อนข้างมาก แม้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้ รฟม. ประมูลภายในปีนี้ แต่ประเมินว่าน่าจะก่อสร้างได้จริงปี 2565 ในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนเอกชน (พีพีพี)

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีนํ้าตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร จะเป็นลักษณะฟีดเดอร์รับส่งผู้โดยสาร เชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลัก หากจะให้คุ้มค่าการลงทุนต้องรอโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดให้บริการ

ขณะข้อมูลปรึกษา รถไฟฟ้าเส้นนี้ ระบุเส้นทางที่เหมาะสม จะใช้แนวเส้นทางเดิม หรือวิ่งตามถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดีฯ ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีแครายบนถนนงามวงศ์วาน และประเมินว่า สายสีนํ้าตาล ยังช่วยเชื่อมเมืองด้านฝั่งแคราย จังหวัดนนทบุรี กับฝั่งเกษตร-นวมินทร์ ที่มีอัตราการเติบโตสูงเข้าด้วยกัน

มาที่รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และพระ โขนง-ท่าพระ โครงการเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรอง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพ มหานคร ล่าสุดกระทรวงคมนาคม เตรียมหารือเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ให้เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายหลักระยะแรก ที่มีแผนก่อสร้าง

แนวเส้นทางจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงแยกขาดจากกัน ช่วงแรกมีจุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีลาดพร้าว 83 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้มที่สถานีวัดพระราม 9 จากนั้นข้ามเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วง มิสซิ่งลิงก์ บางซื่อ - หัวหมาก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) เพื่อสิ้นสุดเส้นทางช่วงแรกที่สถานี 2 มีจุดเริ่มต้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทสถานีพระโขนง

จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนพระราม 4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีคลองเตย และสถานีลุมพินี แล้วเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนสาทรไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม ที่สถานีช่องนนทรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวรถโดยสารด่วนพิเศษสายสาทร-ราชพฤกษ์ ที่จะยกเลิกโครงการไปจนถึงปลายทางสถานีราชพฤกษ์ อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลมอีกจุดหนึ่งที่สถานีตลาดพลู แล้วมุ่งหน้าขึ้นทางเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระอันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลอีก 1 จุด ระยะทางรวมประมาณ 40 กิโลเมตร

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีทอง  เส้นทางฝั่งธน ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-สะพานพุทธ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองบนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ช่วงแรก มีความก้าวหน้าไปมาก เตรียมเปิดให้บริการเชื่อมโยงห้างไอคอนสยาม ตัดกับสถานีกรุงธนบุรี บีทีเอสสายสีเขียว

ส่วนระยะที่ 2 เตรียมก่อสร้างอีกไม่นาน กรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีระบบรางเชื่อมโยง ครอบคลุม และสะดวกสบายท่ามกลางความเจริญที่ล้อไปตามเส้นทางที่เกิดขึ้น 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เคาะแน่ 3 รถไฟฟ้า นํ้าตาล-เทา-"ทองเฟส2"