IMF-เวิลด์แบงก์หวั่นเศรษฐกิจโลกติดไวรัส เชื่อผลกระทบระยะสั้น

04 ก.พ. 2563 | 09:56 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

นางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนนั้น อาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกโดยในระยะสั้น จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในระยะยาว ผลกระทบจะเป็นอย่างไรนั้นยังยากจะคาดเดา เนื่องจากต้องประเมินว่ามาตรการสกัดกั้นการแพร่กระจายเชื้อมีออกมารวดเร็วทันเหตุการณ์หรือไม่ และมีประสิทธิภาพเพียงใด  

 

ทั้งนี้ ผู้บริหารของไอเอ็มเอฟเปิดเผยว่า ผลกระทบบางอย่างเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว เช่นผลกระทบทางอ้อมที่เริ่มมีต่อภาคการผลิตและห่วงโซ่การผลิต นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเดินทางของผู้คนและการท่องเที่ยว แต่ก็อาจเป็นผลกระทบระยะสั้น พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (SARS)หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ที่เกิดขึ้นในปี 2546 และส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในเวลานั้น  กรณีของโรคซาร์สมีการแพร่ระบาดใน 29 ประเทศทั่วโลกและทำให้มีผู้เสียชีวิต 774 คน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก)

IMF-เวิลด์แบงก์หวั่นเศรษฐกิจโลกติดไวรัส เชื่อผลกระทบระยะสั้น

“การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับลดลงในช่วงเดือนที่มีการแพร่ระบาดและหลังจากที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่หลังจากนั้นก็จะดีดตัวขึ้นมา และผลของโรคซาร์สก็ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนั้นทั้งปีลดลงไปเพียง 0.1%” นางจอร์จีวากล่าว
 

IMF-เวิลด์แบงก์หวั่นเศรษฐกิจโลกติดไวรัส เชื่อผลกระทบระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม บทบาทของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เกิดโรคซาร์สนั้นแตกต่างไปจากบทบาทของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ โดยย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้วช่วงที่เกิดโรคซาร์ส เศรษฐกิจจีนนั้นมีสัดส่วนเพียง 4% ของจีดีพีโลก  แต่ปัจจุบันสัดส่วนความสำคัญของจีนต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็น 18% แล้ว ดังนั้น โรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในจีน ทำให้ต้องมีการปิดพื้นที่ควบคุมการเข้า-ออกอย่างเข้มงวดและประกาศขยายช่วงเวลาวันหยุดใน 14 มณฑลและเมืองใหญ่ของจีนเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวอยู่แล้ว สามารถดำดิ่งลงได้อีก และจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมไม่มากก็น้อย ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟคาดหวังว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวที่อัตรา 3.3% ในปี 2563  แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทางไอเอ็มเอฟจะมีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะเผยแพร่ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

เรียกร้องธนาคารกลางใช้มาตรการกระตุ้นที่เหมาะสม

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว นางจอร์จีวาได้เรียกร้องให้บรรดาธนาคารกลางนำมาตรการที่เหมาะสมมาใช้ ทั้งนี้ในปี 2562 มีธนาคารกลางของ 49 ประเทศที่ใช้มาตรการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัว 0.5% “ถ้าหากว่าเรา (ประเทศต่างๆ) ไม่มีนโยบายการเงินการคลังที่สอดคล้องกัน ไอเอ็มเอฟเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจจะพลิกผันสู่ภาวะถดถอยได้”  อย่างไรก็ตามการใช้นโยบายทางการเงินในเชิงผ่อนปรนมากจนเกินไปก็อาจส่งเสริมให้มีการสร้างภาระหนี้มากขึ้น และกลายเป็นวิกฤติหนี้ระดับโลก

 

ขณะเดียวกัน ทางด้าน เวิลด์แบงก์ หรือ ธนาคารโลก ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางการจีนมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  และรัฐบาลจีนยังได้ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

 

นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ยังได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆเร่งรัดนำมาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาดมาใช้ เพื่อควบคุมและจำกัดวงของการแพร่ระบาด “ธนาคารโลกกำลังประเมินทรัพยากรทั้งด้านการเงินและด้านเทคนิคที่เรามีอยู่ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้ได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เรายังกำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็วในระดับโลกเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดนี้” แถลงการณ์ของเวิลด์แบงก์ที่ออกมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (3 ก.พ.)ระบุ