เจ้าพ่อธุรกิจขยะรีไซเคิล สร้างขยะเป็นทองคำ

03 ม.ค. 2563 | 03:35 น.

ขณะที่พิษเศรษฐกิจกำลังทำร้ายเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม ทว่า “วงษ์พาณิชย์” ธุรกิจขยะรีไซเคิลระดับประเทศ กลับกลายเป็นธุรกิจที่เติบใหญ่ ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยการบริหารของผู้นำ “ดร.สมไทย วงษ์เจริญ” ประธานกรรมการ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด เขาคือผู้บุกเบิกธุรกิจรีไซเคิลขยะ ที่เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทอง พร้อมนำพาองค์กรให้เติบโตได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดย ณ เวลานี้ ธุรกิจรีไซเคิลขยะของเขาขยายฐานแฟรนไชส์ไปแล้ว ทั้งในอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

แม่ทัพใหญ่วงษ์พาณิชย์ ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาขยะ และโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 40 ปี ว่า วงษ์พาณิชย์ทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง องค์กรไหน ที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องวัสดุรีไซเคิล ไม่ต้องห่วงเลย เพราะมีตลาดรีไซเคิลรองรับแบบสบายๆ เรียกว่าเป็นตลาดบลูโอเชียนที่ความต้องการของตลาดมีมากมาย ไม่เพียงแค่ในเมืองไทย แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และในขณะเดียวกัน ตลาดโลกนี่แหละที่เป็นฐานของวัตถุดิบอย่างดี อีกทั้งธุรกิจการผลิตสินค้ารีไซเคิล ยังสามารถทำให้เกิดการสร้างงานขึ้นอีก 6 เท่า และประหยัดพลังงานได้ถึง 10 เท่า

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ

“ดร.สมไทย” บอกว่า การจะทำให้ธุรกิจรีไซเคิลประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มกันตั้งแต่บนโต๊ะวิศวกร ต้องมาดูกันที่เรื่องของ “อีโค ดีไซน์” รวมถึงต้องดูเรื่องกฏหมายรีไซเคิล ซึ่งญี่ปุ่นมีกฎหมายรีไซเคิลมาแล้วกว่า 14 ปี ส่วนมาเลเซีย ก็เพิ่งประกาศกฏหมายรีไซเคิล แต่ประเทศไทยยังไม่มีด้านนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งดำเนินการ ออกกฎหมายรีไซเคิล เพื่อรักษาทรัพยากร เข้าสู่สังคม รักษาทรัพยากรหมุนเวียน รวมทั้งเป็นการให้ความรู้ เปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดทางสังคม ตั้งแต่ระดับบน กลาง ล่าง ไปพร้อมๆ กัน คนรุ่นใหม่จะต้องรู้ถึงคุณค่าของขยะ

ระดับบน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ออกและกำกับนโยบาย ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการประถมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานมาตรฐานต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการรากหญ้า อบต. ทุกฝ่ายต้องเร่งให้ความรู้กับสังคม และนั่นคือ ที่มาที่ทำให้รัฐบาลประกาศนโยบายด้านขยะ ให้เป็นวาระแห่งชาติ...เมืองต้องใช้ประโยชน์จากขยะ เหมือนที่พิษณุโลกประกาศไปแล้ว

“ดร.สมไทย” บอกว่า สถานการณ์ขยะในประเทศไทยปี 2561 มีปริมาณขยะ 27.93 ล้านตัน เป็นผลมาจากที่คนไทยทิ้งขยะ 400 กก./คน/ปี โดยปกติแล้วขยะเหล่านั้นเข้าระบบรีไซเคิล 80% หรือ 320 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งราคาขยะมวลรวมตั้งแต่พลาสติก ขวดแก้ว อะลูมิเนียมเฉลี่ย กิโลกรัมละ 8 บาท เท่ากับว่าคนไทยทิ้งขยะหรือทิ้งเงินไปวันละ 470 ล้านบาท เลยทีเดียว

ซีอีโอท่านนี้ มองเห็นโอกาสทางการตลาด ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ประเทศไทย ดังนั้น เขาจึงวางระบบ ขยายธุรกิจรีไซเคิลออกสู่ต่างประเทศ ด้วยรูปแบบของแฟรนไชส์ ที่รวบรวมวัตถุดิบจากหลุมฝังกลบขยะ และของเหลือใช้จากครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ ทำให้ปัจจุบัน เขามีแฟรนไชส์มากถึง 1,761 สาขาทั่วประเทศ และ 9 สาขาใน สปป.ลาว 3 สาขาในกัมพูชา 2 สาขาในมาเลเซีย และในญี่ปุ่น และ 4 สาขาในรัฐแมริแลนด์ และรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และยังขยายเพิ่มอีก 2 สาขา ในรัฐวอชิงตัน

แผนงานขยายสาขาของวงษ์พาณิชย์ “ดร.สมไทย” บอกว่า เขามีแผนที่จะขยายเพิ่มปีละ 100 สาขา ด้วยการลงทุนเอง ร่วมลงทุน และแฟรนไชส์ ซึ่งในส่วนของแฟรนไชส์นี้ มีสัดส่วนมากถึง 90% ของจำนวนสาขาทั้งหมด

“ดร.สมไทย” ยํ้าหลายครั้งว่า... ขยะคือทองคำ...ซึ่งเขาก็ทำให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

“เราเติบโตจากการล้างขวดขาย กำไรดีมาก และมีขวดมากหลากหลายชนิด ภาษาเราเรียกวิชาจับกร๊วก เอาขวดสารพัดมาล้างขาย แต่ตอนนี้ขวดแก้วลดอัตราไป สิ่งที่มาแทนขวดแก้ว คือ ขวดพีอีที ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าขวดแก้ว 10 เท่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มันถึงเวลาสิ้นสุดการใช้ขวดแก้ว เพราะอัตราขวดแก้วมันลดน้อยลง”

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ

ขยะที่เขาได้มา ได้ถูกนำเข้าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ ขยะทุกชิ้นนำกลับมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดประโยชน์ มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ขวดพลาสติกใส PET (polyethylene terephthalate) นำไปผลิตรองเท้า, กระเป๋า, ผ้าห่ม, จีวร, เสื้อนักเรียน, กางเกงยีนส์ เป็นต้น ซึ่งเขาได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ พัฒนาออกมาเป็นสินค้าเหล่านี้ ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และมูลค่าในตัวของมันเอง รวมทั้งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับวงษ์พาณิชย์

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ “วงษ์พาณิชย์” เมื่อปี 2517 “สมไทย วงษ์เจริญ” ทำธุรกิจหลากหลายในจังหวัดพิษณุโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งวันหนึ่งเห็นรถซาเล้งเก็บขยะ เกิดความสงสัยจึงเข้าไปสอบถามที่มา เมื่อได้มาแล้วไปขายที่ไหน ราคาเท่าไร เขามีคำถามมากมาย และคำตอบที่ได้ ก็ได้จุดประกายทำให้เขามองเห็นโอกาส

เจ้าพ่อธุรกิจขยะรีไซเคิล สร้างขยะเป็นทองคำ

เขาใช้ทุนตั้งต้นแค่ 1 พันบาทพร้อมลูกอม 1 ถุง และรถกระบะอีก 1 คัน ตระเวนรับซื้อของเก่าแลกลูกอมไปทั่วทุกพื้นที่ของพิษณุโลก ธุรกิจของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และขยายตัวออกไปเรีื่อยๆ จนกระทั่ง ปี 2532 ได้สร้างโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บนเนื้อที่ 6 ไร่ครึ่ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เป็นโรงงานคัดแยกขยะขนาดใหญ่และทันสมัย สามารถรองรับปริมาณขยะได้ถึง 80,000-100,000 กิโลกรัมต่อวัน

จากนั้น วงษ์พาณิชย์ ขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ก้าวไปสู่ต่างประเทศ จนปัจจุบัน ธุรกิจของวงษ์พาณิชย์ ยังคงเดินหน้า สร้างขยะให้เป็นทองคำให้คนไทยได้เห็น ด้วยความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ ที่เขามีและทุ่มเท

 

หน้า 20-21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,536 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2563

เจ้าพ่อธุรกิจขยะรีไซเคิล สร้างขยะเป็นทองคำ