สรรพากรรุก  รีดภาษีปี63  2.1165ล้านล้าน

01 ม.ค. 2563 | 01:00 น.

เรื่องภาษีพูดเบาๆก็เจ็บ เพราะเวลามีภาษีอะไรใหม่ๆออกมาทีไร จะตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้ง และที่เห็นวุ่นวายส่งท้ายปี 2562 ก็คงจะเป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 และยื่นเสียภาษีครั้งแรกในเดือนเมษายน 2563 แต่ก่อนจะถึงเวลาเก็บภาษีจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเตรียมการโดยให้ผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยไปแจ้งวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ในที่อยู่อาศัยต่อสำนักงานเขตหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใน 15 วัน

ทั้งนี้เพราะตามกรอบกฎหมายจะยกเว้นให้กับที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะเสียล้านละ 200 บาท หลังที่ 2 จะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก และหากเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าจะต้องเสียภาษีในอัตราล้านละ 3,000 บาท จนกระทรวงมหาดไทยต้องขยายเวลาการยื่นเสียภาษีออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 และเห็นตรงกันกับกระทรวงการคลังที่จะยกเว้นไม่ต้องไปแจ้งยังสำนักงานเขตตามที่แจ้งไปก่อนหน้า แต่ล่าสุดกรุงเทพมหานครยังยืนยันที่จะเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดทุกประการ

แม้จะคลุมเครือเรื่องบ้านที่ใช้ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและการพาณิชย์ว่าจะเสียภาษีในอัตราใด แต่ที่ชัดเจนคือ ผู้มีรายได้จากการให้เช่าที่อยู่อาศัยนั้น มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อกรมสรรพากร ซึ่งนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย หรือเช่าเพื่อการพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีการหลบเลี่ยงการยื่นแสดงรายได้จากการบังคับใช้พ...ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ทางกรมเตรียมประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทุกราย โดยจะขอข้อมูลจากอปท.และส่งเจ้าหน้าที่ของกรมลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ ว่าผู้ให้เช่าระหว่างบุคคลธรรมดา หรือให้เช่านิติบุคคล

สรรพากรรุก  รีดภาษีปี63  2.1165ล้านล้าน

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

 

ทั้งนี้จุดประสงค์หลัก ไม่ได้ไปสำรวจและไล่บี้ให้กลุ่มนี้มายื่นแสดงรายได้ เพื่อเสียภาษีมากขึ้นหรือหารายได้จากส่วนนี้มากขึ้น แต่ต้องการให้เข้ามาอยู่ในระบบเท่านั้น เพราะการเข้าอยู่ในระบบภาษีของทุกคนเป็นเรื่องที่ต้องทำ และได้ประโยชน์มากกว่าหลบเลี่ยง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียภาษีที่มีรายได้จากการให้เช่ายื่นแสดงรายได้อยู่บ้าง และกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริษัทหรือนิติบุคคลเช่า เราก็จะหาข้อมูลได้จากการยื่นแสดงรายจ่าย หัก ที่จ่าย ของนิติบุคคลเหล่านี้ ฉะนั้นถ้าระบบภาษีที่ดินมีประสิทธิภาพ ก็จะเชื่อมต่อทำให้จัดเก็บได้ และสุดท้ายกรมสรรพากรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

การหารายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2563 จะมีหลายส่วนที่หายไป เพราะมีการยกเว้นและลดภาษีต่างๆ จึงยอมรับว่ากรมจะต้องทำงานหนักขึ้นและเป็นความท้าทายมากในการจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.1165 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2562 ที่จัดเก็บได้ 2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ฐานภาษีหลักในการสร้างรายได้อันดับ 1 ยังคงเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยเชื่อว่าการจัดเก็บ VAT จะยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นผลจากมาตรการชิมช้อปใช้และหากภาษี e- Business มีผลบังคับใช้จะทำให้รายได้จาก VAT เพิ่มขึ้นอีก 4,000 ล้านบาท และรายได้จาก VAT จากสินค้าที่ซื้อจากออนไลน์และส่งไปรษณีย์เข้ามา และยกเลิกการเก็บ VAT ในสินค้านำเข้าที่ไม่เกิน 1,500 บาท จะทำให้มีรายได้จาก VAT เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลยังเป็นตัวหลักรองลงมา คิดเป็น 35% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งกรมจะพยายามหาแนวทางในการจัดเก็บมากขึ้น โดยเข้าไปตรวจสอบเข้มข้นในกลุ่มนิติบุคคลที่หลบเลี่ยงการจ่ายภาษี ออกใบกำกับภาษีปลอม หรือยื่นแสดงรายได้และรายจ่ายที่ไม่เป็นจริง เพื่อชดเชยจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อาจจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจปี 2562 ส่วนฐานรายได้ที่สำคัญต่อมา คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีสัดส่วน 17% ของรายได้ทั้งหมด

นายเอกนิติกล่าวทิ้งท้ายว่า เดือนมกราคม 2563 กรมจะเป็นหน่วยงานแรกในโลก ที่นำเทคโนโลยีระบบบล็อกเชนมาใช้ในการคืนภาษีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (VAT Refund) โดยได้ทดลองระบบที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว หากมีประสิทธิภาพเพียงพอและใช้งานได้ จะเริ่มดำเนินการได้ทันที

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562 -1 มกราคม 2563

                      สรรพากรรุก  รีดภาษีปี63  2.1165ล้านล้าน