เจน 2 ‘สตีล ซิตี้’ ปรับโมเดลทำงาน รีแบรนด์ธุรกิจสู่โมเดิร์น

28 ธ.ค. 2562 | 06:40 น.

จริงๆ แล้วไม่เคยมีใครกำหนด หรือมีสูตรชัดเจนตายตัวว่า ทายาทธุรกิจ เจน 1 เจน 2 หรือ เจนต่อๆ ไปจะต้องเข้ามาทำหน้าที่อะไร มีอยู่เพียงสิ่งเดียวที่ต้องทำแน่ๆ และต้องทำให้ได้ คือ ทำให้ธุรกิจอยู่รอด และถ้ารอดได้อย่างมั่นคง เติบโต จะยิ่งเวิร์ก ซึ่งขณะนี้ “คุณฮง - เลิศพงษ์ ศรีวงศ์ทอง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี.อาร์.อินดัสเตรียล จำกัด กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่

“เลิศพงษ์” เป็นทายาทรุ่น 2 ของ “โรงหลอมเหล็ก สตีล ซิตี้” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์บ๊อกซ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์จับยึดท่อร้อยสายไฟเหล็ก ด้วยโครงสร้างที่ผลิตจากเหล็ก อะลูมิเนียม ซิงค์ ทองแดง และทองเหลือง โดยลูกค้าสำคัญของ STEEL CITY มีทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรงผลิตไฟฟ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า BTS รถไฟใต้ดิน MRT ศูนย์ประชุม BITEC บริษัท ABB Limited ประเทศสิงคโปร์

นักบริหารหนุ่มผู้นี้ เข้ามาศึกษา และเริ่มทำงานในธุรกิจครอบครัวเมื่อกว่า 16 ปีที่แล้ว หลังจบ Multi Media Studies จาก Central Queensland University ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แม้จะไม่ได้เรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ แต่เขาก็พร้อมเรียนรู้ โดยเริ่มงานตั้งแต่งานเล็กๆ อย่างงานจัดของ เปิดบิล ขนส่ง ซึ่ง “เลิศพงษ์” ยอมรับว่า สินค้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายมีจำนวนมากกว่า 300-400 รายการ แม้เขาจะพอรู้จักสินค้าเหล่านั้น แต่งานที่ต้องทำจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ตัวสินค้า หรือการใช้งานของสินค้า แต่การบริหารธุรกิจ มันมีอะไรอีกมากมายที่ต้องรู้ และศึกษา ก่อนที่จะขึ้นมานั่งแท่นบริหารงานได้ทั้งองค์กร

เจน 2 ‘สตีล ซิตี้’ ปรับโมเดลทำงาน รีแบรนด์ธุรกิจสู่โมเดิร์น

ระหว่างการเรียนรู้งานในส่วนต่างๆ ทำให้ “เลิศพงษ์” มองเห็นจุดบกพร่องบางอย่างที่ควรแก้ไข เช่น ระบบการจัดการต่างๆ ที่เริ่มต้น อาจจะไม่เป็นไปในรูปแบบของโลกยุคใหม่นัก ไม่ว่าจะเป็นระบบการขนส่ง ระบบการตรวจเช็ก สินค้า ทำให้การผิดพลาดบ่อย แต่การปรับเปลี่ยนนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนจะชินอยู่กับระบบเดิมๆ และเชื่อมั่นว่าของเดิมดีอยู่แล้ว แต่...นักบริหารคนนี้ ก็มีวิธีการทำงานที่ประนีประนอม เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับในทางที่ถูกต้อง

อย่างการเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ จากระบบการเปิดบิลผ่านดอส ซึ่งเป็นระบบเก่าที่ซ่อมยาก หาที่ซ่อมไม่ได้ แต่พนักงานคุ้นเคยกับระบบเดิมๆ และไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เขาจะมีการผสานระบบเก่าเข้ากับระบบใหม่ และให้พนักงานได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า มันเป็นความยุ่งยาก
ซึ่งในที่สุด พนักงานก็ยอมเปลี่ยน

“เราอยากให้เขาเห็นว่าเรารับฟัง และทำให้เขาดู เราไม่ได้ปฏิเสธความคิดเห็นของเขา เราพยายามให้โอกาส และให้เขาได้ทดลอง ซึ่งผมจะให้เวลา เพื่อให้เขาได้พิสูจน์”...นั่นคือ วิธีการ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ แต่เป็นการให้โอกาสทีมงานได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรเหมาะสม โดยเขาจะเซตเวลาของเขาเองว่า จะให้เวลาในการทดลอง หรือการทำงานแต่ละเรื่องอย่างไร และผลควรจะต้องออกมาเป็นอย่างไร  

เจน 2 ‘สตีล ซิตี้’ ปรับโมเดลทำงาน รีแบรนด์ธุรกิจสู่โมเดิร์น

ธุรกิจของสตีล ซิตี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2531 โดยเริ่มจากการเป็นพ่อค้าคนกลาง จนเริ่มเห็นโอกาสทางการตลาดสำหรับอุปกรณ์ฟิตติ้งท่อร้อยสายไฟ ที่หายากและราคาแพง คุณพ่อและคุณแม่ของเขา จึงตัดสินใจลงทุนผลิตสินค้า และแข่งขันกับตลาดมาด้วยการสร้างความแตกต่างของสินค้าคุณภาพ การได้ใบรับรองมาตรฐานในการใช้งาน ทำให้แบรนด์ของสตีล ซิตี้ กลายเป็นที่ยอมรับของตลาด ในเรื่องของมาตรฐาน ความปลอดภัย และความคงทน

 

เมื่อมาถึงยุคของเจน 2 “เลิศพงษ์” บอกว่า เรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย ยังเป็นหัวใจหลักของการผลิตสินค้า พร้อมกับเพิ่มมาตรฐานด้วยระบบที่เป็นสากล เช่น ISO ซึ่งไม่ได้ทำเพียงแค่การผลิตสินค้า แต่รวมถึงการวางระบบภายในองค์กร ที่ต้องปรับเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ก้าวสู่การเป็นองค์กรระดับสากล อย่างการปรับองค์กรรีแบรนด์สตีล ซิตี้ เขาเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562โดยจัดให้มีการเทรนนิ่งระบบใหม่ๆ การทำงานในรูปแบบใหม่ๆ และเซตเป้าไว้ไม่เกิน 3 ปีต้องทำให้สำเร็จ

“ผมต้องการวางระบบ จากสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วพาเขาไปดูงานข้างนอกบ้าง ไปเจอโรงงานระบบเล็กถึงใหญ่มากๆ เห็นว่าเขาทำกันอย่างไร”

ก้าวต่อไปในปีหน้าของสตีล ซิตี้ คือ การขยายความรู้ด้านอุปกรณ์ต่างๆ ของบริษัท ให้คอนซูเมอร์ได้รับทราบว่า สินค้าที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยอย่างไร แตกต่างจากสินค้าทั่วไปอย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่่เป็น End User ที่ควรรับรู้ถึงความต่างของคุณสมบัติด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากท่อร้อยสายไฟไม่ได้มาตรฐาน หรือตรวจเช็กไม่ได้ซึ่งนั่นคือ ความท้าทาย ที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้กำลังเผชิิญ

“ความยากคือการจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจ และเห็นภาพ รับรู้ถึงความจำเป็น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่างไฟ เป็นคนเลือกวัสดุเพียงอย่างเดียว เพราะหากเลือกท่อร้อยสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ตรวจเช็กไม่ได้ อย่างท่อพลาสติก ซึ่งไม่กันความร้อน และติดไฟได้ นั่นคืออันตรายมหาศาล”

จากความท้าทายด้านการสื่อสาร สิ่งที่ “เลิศพงษ์” ได้รํ่าเรียนมา เริ่มถูกนำเข้ามาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง กับการสื่อสารสู่กลุ่มผู้บริโภค ผ่านสื่อออนไลน์ และสื่ออื่นๆ รวมทั้งการทำโรดโชว์ สร้างความเข้าใจกับลูกค้าโดยตรง

ผู้บริหารคนนี้ บอกถึงความตั้งใจว่า ภายในปีนี้ จะทำให้ตลาดแมสรู้จักสินค้าของสตีล ซิตี้ ให้มากที่สุด โดยจะวัดผลจากสื่อออนไลน์ ที่เราลงโฆษณา ผ่านเฟซบุ๊กและสื่อต่างๆ และเริ่มออกแคมเปญกับกลุ่มลูกค้า เริ่มออกบูธ ดูจำนวนลูกค้า และยอดขาย ภายในปีนี้ ตัวเลขต้องบวกมากขึ้น จากปกติที่เติบโตปีละ 10-20% พร้อมตั้งเป้าว่า ภายใน 3-5 ปี จะมียอดขายทะลุ 1,000 ล้านบาท แน่นอน

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เจน 2 ‘สตีล ซิตี้’ ปรับโมเดลทำงาน รีแบรนด์ธุรกิจสู่โมเดิร์น