แบงก์หวั่น  ‘ลดดอกเบี้ย’  กระทบเงินฝาก

05 พ.ย. 2562 | 23:10 น.

จับทางดอกเบี้ยนโยบาย  กูรูเห็นต่างท่าทีบอร์ดกนง. “คง-ลด”ในการประชุม 6 พฤศจิกายน นี้ ฟากประเมินปรับลด อ้างเศรษฐกิจชะลอ-เงินเฟ้อตํ่า-เงินบาทแข็ง ขณะที่ฟากมอง “คง” เหตุแบงก์ไม่ตอบสนองการส่งผ่านสู่ระบบ ห่วง “ปล่อยกู้เกินตัว-เงินบาทแข็ง-ลงทุนผิดที่ผิดทาง”

นับถอยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปี 2562 ที่เหลือเพียง 2 ครั้งเท่านั้นคือ 6 พฤศจิกายน และ 18 ธันวาคม จึงเป็นที่จับตาของตลาดเงินและตลาดทุน เพราะกนง.เคยเซอร์ไพรส์ตลาดมาแล้วเมื่อครั้งการประชุม 7 สิงหาคม ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามความเห็นนักวิเคราะห์ เพื่อประเมินท่าทีของกนง.ทั้ง 7 คน ต่อการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ส่วนใหญ่แม้จะมีฐานข้อมูลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อหรือการเคลื่อนไหวของเงินบาท แต่นักวิเคราะห์มีความเห็นต่างต่อท่าทีของกนง.

เริ่มจากฟากที่คาดว่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% โดยนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด เปิดเผยว่าที่ผ่านมา กนง.จับตาภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำอะไร แต่หลังมาตรการทางการคลังออกมาแล้วมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เพราะงบประมาณจำกัดและการส่งผ่านฝืดเคือง จึงจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในรอบนี้

“จริงๆ แบงก์ชาติค่อนข้างห่วงกระสุน แต่หากจะให้ลดดอกเบี้ยนั้น ผมเดาใจบอร์ดกนง.ต้องการความมั่นใจเรื่องเสถียรภาพ อย่างน้อยไม่มีประเด็นหนี้เสีย หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจนเกินไป ซื้อพันธบัตรแล้วเกิด Default หรือเก็งกำไรภาคอสังหาฯ ถ้ามั่นใจว่า เริ่มควบคุมเสถียรภาพได้ คงหนีไม่พ้นที่กนง.จะลดดอกเบี้ยในรอบนี้ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 2 เสียง และกนง.ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า มีความเสี่ยงจะชะลอลากยาวไปปีหน้าหรือไม่ฉะนั้นนอกจากลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว กนง.จะต้องมีมาตรการใดเพิ่มเติมอีกเพื่อดูแลเศรษฐกิจ”

แบงก์หวั่น  ‘ลดดอกเบี้ย’  กระทบเงินฝาก

อมรเทพ จาวะลา

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ส่วนตัวมองว่ากนง.ควรลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินบาททันทีก่อน แต่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีและความเชื่อมั่นไม่มาก การใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอาจได้ผลไม่มาก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ส่วนท่าทีของกรรมการนั้นเชื่อว่า มติที่ประชุมคงไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะขึ้นกับกรรมการแต่ละท่าน

 

“บอร์ดกนง.คงจะพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เพราะหากรอไปเท่ากับเลื่อนเวลากระตุ้นเศรษฐกิจออกไปปีหน้า เพราะต้องใช้เวลาในการส่งผ่านดอกเบี้ย ช่องทางกว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจจริง”

ลองมาฟังฟากที่มองว่า โอกาสที่กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 1.5% ซึ่งนายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่า กนง.กังวล 3 เรื่องคือ 1.การปล่อยกู้เกินตัว 2.บาทแข็งค่า และ 3.การลงทุนผิดที่ผิดทาง ที่สำคัญ ตัวเลขเศรษฐกิจแทบไม่เปลี่ยนไปจากการประเมินครั้งก่อน ยกเว้นภาคการผลิต ซึ่งแย่ทั้งโลก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถจะปลุกให้ฟื้นได้ด้วยการลดดอกเบี้ย 0.25% หรือ 1% ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อตํ่ามาจากค่าขนส่งและนํ้ามันที่ปรับลดลง ซึ่งภาคการผลิตที่ชะลออาจมีผลต่อจีดีพีบ้าง แต่ยังมองว่าจีดีพีสิ้นปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% เพราะหลังจากงบประมาณปี 2563 ผ่านแนวโน้มการลงทุนและการบริโภค ภาครัฐน่าจะเริ่มดีขึ้นจากที่เคยล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา

“การตัดสินใจขึ้นกับบอร์ดของกนง. ซึ่งตัวแทนจากธปท.ไม่อยากลดดอกเบี้ยลง แต่ธปท.พร้อมจะมีนโยบายสนับสนุนเงินทุนไหลออกในรอบประชุมครั้งนี้หรืออาจจะรอจังหวะ”

แบงก์หวั่น  ‘ลดดอกเบี้ย’  กระทบเงินฝาก

 

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี กล่าวว่า  บอร์ดกนง.น่าจะรอผลมาตรการคลังเฟส 3 และแม้ลดดอกเบี้ย แต่กนง.กังวลการส่งผ่านนโยบายการเงินให้ครอบคลุมทั้งผู้กู้และผู้ฝาก ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายรอบก่อน แต่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ตอบสนองด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) โดยลดดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เท่านั้น ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตํ่ามากแล้ว ซึ่งผู้ว่าธปท.ห่วงเรื่อง Search for Yield หากจะมีการปรับลดลงอีกอาจกระทบเงินออมของประชาชน

“หากเทียบดอกเบีี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยแบงก์อาจกระทบเงินฝากออมทรัพย์ ที่จ่ายในอัตรา 0.50% ซึ่งคิดเป็น 60% ของพอร์ตเงินฝาก ส่วนเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.2-1.5% หากจะลดดอกเบี้ยอาจไม่เสียหายนัก ถ้าจะลดดอกเบี้ยลงอีก ก็ต้องตอบได้ว่า คนไทยจะได้อะไรหรือมีความชัดเจนในการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายสู่ระบบแบงก์ ซึ่งบอร์ดก็คงจับท่าทีแบงก์ ไม่ใช่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเชิง สัญลักษณ์หากไม่เคลียร์เรื่องการส่งผ่าน ช่วงที่เหลือปีนี้อาจไม่เห็นดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีก”

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2562