พอล ครุกแมน ถาม "โทษที!สหรัฐฯเนี๊ยะนะห่วงสิทธิแรงงาน"

30 ต.ค. 2562 | 00:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบล ปี 2551 ทวีตข้อความว่า เขาไม่เชื่อว่าการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกสิทธิพิเศษด้านภาษีหรือ GSP ที่มีต่อประเทศไทย จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิแรงงานตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ อ้าง มีใจความว่า “อะไรคือเหตุผลแท้จริงกันแน่? โทษที ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะใส่ใจเรื่องสิทธิของผู้ใช้แรงงานอย่างที่อ้าง”

นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลได้รีทวีตข้อความของ แชด บาว์น (Chad P. Bown) นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการอาวุโสของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ Peterson Institute for International Economics (PIIE) เกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

ข้อความที่ครุกแมนถามรัฐบาลสหรัฐฯเรื่องการตัด GSP ไทย
จากนั้นได้มีผู้มาชี้แจงต่อครุกแมนว่า แท้ที่จริงแล้วเกิดจากการที่ไทยประกาศจะแบนสารพิษ 3 ชนิดในภาคการเกษตร รวมถึงนโยบายไม่นำเข้าเนื้อหมูที่ใส่สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบาม่าจนถึงรัฐบาลทรัมป์ ให้ไทยซื้อหมูเนื้อแดงและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ


โดยก่อนการประกาศตัดสิทธิ GSP ไม่กี่วัน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดค้านยกเลิกการใช้ สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารเคมี
ทั้งนี้สหรัฐฯ จะตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี GSP ต่อสินค้าไทยหลายชนิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญหรือราว 40,000 ล้านบาท รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยข้ออ้างของสหรัฐฯ คือ ไทยไม่เอาใจใส่ต่อสิทธิของผู้ใช้แรงงาน


ในทางกลับกัน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาคณะกรรมการการประมงแห่งสภายุโรป (European Parliament's Committee on Fisheries: PECH) ได้ประกาศชื่นชมประเทศไทยในความพยายามแก้ไขปัญหา การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม (IUU)
“ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีเอาใจใส่ต่อการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมงจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การที่สหภาพยุโรปจะได้ยกเลิกการคว่ำบาตรอาหารทะเลจากไทย”


เบื้องลึกสหรัฐฯตัด GSP ไทย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย มาจากกรณีที่ไทยแบนการนำเข้า3สารพิษและหมูเนื้อแดงจากสหรัฐฯ จึงถูกมาตรการตอบโต้ดังกล่าว
ทั้งนี้ไทยคัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯมาโดยตลอด หลังจากเมื่อปี 2557 สหรัฐฯพยายามให้ไทยนำเข้าชิ้นส่วนหมูและเครื่องใน ซึ่งเป็นส่วนที่คนอเมริกันไม่กิน สุดท้ายต้องพับแผนด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางอาหารของไทย
ในปี 2558 ประธานธิบดีบารัก โอบามา ยังกดดันให้ไทยนำเข้าอีก โดยได้หยิบยกเอา TPP (TransPacific Strategic Economic Partnership) หรือ “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” เรื่องการนำเข้าชิ้นส่วนหมูจากอเมริกา หากไทยเข้าร่วม TPP และล่าสุดในปี 2560 ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เหตุผลว่าสหรัฐฯเสียดุล การค้าให้ไทยมากไป ดังนั้นไทยต้องนำเข้าเนื้อหมูจากอเมริกาเพื่อชดเชยการขาดดุล

รัฐบาลไทยยืนยันปกป้องสุขภาพคนไทยเป็นหลัก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือจากสถานทูตสหรัฐฯ ที่มีเอกสารสภาหอการค้าสหรัฐฯ แนบท้ายลงวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. จะเข้าข่ายกดดันไทยหรือไม่ แต่นายอนุทิน ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะหน้าที่ของกระทรวงเกี่ยวข้องสุขภาพชีวิตคน เป็นคนละเรื่องกับการค้า และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ


ขณะที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ไม่กังวลต่อกรณีที่สถานทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือให้รัฐบาลไทยทบทวนการแบนสารไกลโฟเซต และพร้อมส่งหนังสือชี้แจงต่อสหรัฐฯ โดยยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของประเทศไทยที่มีเจตนารมย์ปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภคให้ปลอดภัย ทั้งนี้จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการรองรับหลังการแบนสารเคมี 3 ชนิด