สารพิษ คนของเขา และดาว เคมิคอล

27 ต.ค. 2562 | 21:47 น.

 

จดหมายที่ นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ฝ่ายการค้าและกิจการการเกษตรต่างประเทศ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยอีกหลายกระทรวงเมื่อเร็วๆนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯพร้อม ‘ออกหน้า’ ปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ส่งออกและผู้ประกอบการของสหรัฐฯเองอย่างเปิดเผย แม้เนื้อหาจดหมายจะอ้างอิงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับหลายแสนล้านบาทหากเดินหน้ามาตรการห้ามการใช้สารพิษ “พาราควอต - ไกลโฟเซต - คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งเป็นสารเคมีทางการเกษตร และจะมีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 นี้ ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย แต่สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้บอกคือ ผู้ผลิตและส่งออกสารเคมีของสหรัฐฯจะสูญเสียประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากมาตรการของไทยครั้งนี้

เท็ด แมคคินนีย์ คนใหญ่ในยูเอสดีเอ อดีตผู้บริหารบริษัทในเครือดาว เคมิคอล ผู้ผลิตสารเคมีการเกษตรไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส

 

การปกป้องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชนภายในประเทศนั้นเป็นบทบาทของภาครัฐที่เข้าใจได้ แต่ผลประโยชน์ทับซ้อนของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในหน่วยงานรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องตั้งคำถามและท้าทายการตรวจสอบ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยกระทรวงเกษตร (ยูเอสดีเอ) ออกมาเป็นหัวหอกคัดค้านมาตรการของไทย จะกลายเป็นประเด็นตั้งข้อสงสัยของสื่อไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในสหรัฐฯเอง การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานของยูเอสดีเอ เป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เชื้อเชิญมาจากบริษัทเอกชนทรงอิทธิพล ก็ยังเป็นข้อครหาและถูกสื่อท้องถิ่นตั้งคำถามอย่างเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน เมื่อตัวแทนหรืออดีตผู้ใกล้ชิดบริษัทนายทุนเข้ามาเป็นฟันเฟืองของหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ระดับที่ปรึกษา หัวหน้าส่วน ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะมีผลต่อนโยบายของรัฐ จึงเป็นประเด็นที่ชวนตั้งข้อสงสัย ตรวจสอบ และสร้างความกระจ่างอย่างเร่งด่วน


 

 

ศิษย์เก่า ‘ดาว เคมิคอล’ กับบทบาท ‘คนของทรัมป์’

 

กลางปี 2561 เดอะ ฮิลล์ สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่า ในกระทรวงเกษตร หรือ ยูเอสดีเอนั้นมีผู้บริหารระดับสูงที่เป็น ‘ศิษย์เก่า’ หรือเป็นอดีตผู้บริหารของ บริษัท ดาว เคมิคอล ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรหลายคนด้วยกัน เด่นๆคือ นายเท็ด แมคคินนีย์  ปลัดกระทรวงเกษตร ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2560 ก่อนหน้านั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของยูเอสดีเอประจำมลรัฐอินเดียนา แต่ก่อนเข้ามาสู่แวดวงหน่วยงานรัฐบาล เท็ด แมคคินนีย์ เคยทำงานกับบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์การเกษตร ดาว อะโกรไซเอินเซส (Dow AgroSciences) บริษัทในเครือดาว เคมิคอล และเป็นผู้ผลิตสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มี ‘ไกลโฟเซต’ เป็นส่วนประกอบ เป็นเวลายาวนานถึง 19 ปี เขายังมีประสบการณ์เป็นหนึ่งในทีมล๊อบบี้ยิสต์ของบริษัททำงานคลุกคลีใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐบาลในวอชิงตันมาเกือบ 2 ทศวรรษ  กล่าวกันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้เลือกแมคคินนีย์มากับมือเพื่อรับตำแหน่งคนใหญ่ในกระทรวง

แอนดรูว์ ลิเวอริส ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดาว เคมิคอล ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของประธานาธิบดีทรัมป์

อดีตผู้บริหารของดาว เคมิคอล อีกคนที่ได้รับเสนอชื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำยูเอสดีเอ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ คือนายสก๊อต ฮัตชินส์ ซึ่งเคยทำงานอยู่ในแผนกผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดศัตรูพืชของบริษัทในเครือดาว เคมิคอล มากกว่า 30 ปี

 

ทั้งนี้ ดาว เคมิคอล ไม่ใช่เพียงยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และสารเคมีการเกษตรที่มีไกลโฟเซตและคลอร์ไพรีฟอส เป็นส่วนผสมหลัก แต่บริษัทยังเป็นผู้สนับสนุนหลักในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2559 คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์และเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่สนับสนุนการจัดงานเลี้ยงฉลองการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์

 

ต้นปี 2560 สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายแอนดรูว์ ลิเวอริส ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดาว เคมิคอล ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของประธานาธิบดีทรัมป์ และเป็นประธานสภา American Manufacturing Council ที่เพิ่งแต่งตั้งขึ้นมาใหม่หมาด เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ต่อมาในปี 2561 นายปีเตอร์ ซี. ไรท์ นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมมือฉมังของบริษัท ดาว เคมิคอล ยังได้รับเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ให้มานั่งตำแหน่งสำคัญในสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ อีพีเอ (Enviromental Protection Agency) ของสหรัฐฯ ดูแลโครงการ ‘ซูเปอร์ฟันด์’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบำบัดฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆที่ถูกทำลายหรือปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีพิษ  ท่ามกลางข้อครหาเพราะทั้งดาว เคมิคอล และดูปองต์ (ทั้งสองบริษัทควบรวมกันในเดือนสิงหาคม 2560) ต่างก็เป็นบริษัทที่อยู่ในโครงการซูเปอร์ฟันด์ที่ต้องรับผิดชอบการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศสหรัฐฯภายใต้โครงการนี้
 

บิดนโยบายเอื้อประโยชน์ใคร

บทบาทของผู้บริหาร (รวมทั้งอดีตผู้บริหาร) ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในหน่วยงานสำคัญๆของรัฐบาลทำให้สื่อพุ่งเป้าการตรวจสอบเป็นพิเศษ

 

ในปี 2560 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ของสหรัฐฯ พลิกมติของรัฐบาลชุดก่อน (สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา) ที่มีแผนสั่งห้ามการใช้สารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า สารคลอร์ไพริฟอสที่พบในผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชนั้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อพืชและสัตว์จำนวน 1,778 ชนิดจากทั้งหมด 1,835 ชนิดที่มีการนำมาศึกษา โดยพืชและสัตว์เหล่านี้เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลและประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง บริษัทเอกชนผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอส ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดาว เคมิคอล ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้รัฐพิจารณาทบทวนมติดังกล่าวเสียใหม่เนื่องจากเห็นว่าผลศึกษาที่ใช้ประกอบการพิจารณามีข้อบกพร่อง ทำให้สารคลอร์ไพริฟอสยังไม่ถูกแบนตามมติของรัฐบาลโอบามา

สารพิษ คนของเขา และดาว เคมิคอล

แม้ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 ศาลในสหรัฐฯจะสั่งให้หน่วยงานอีพีเอ ห้ามการใช้คลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วันหลังมีคำตัดสิน แต่คำตัดสินดังกล่าวก็ถูกยื่นอุทธรณ์โดยอัยการของรัฐบาลทรัมป์ในแทบจะทันทีอีกเช่นกัน และจนถึงขณะนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ คงพอจะทำให้มองเห็นชัดเจนแล้วว่า การต่อสู้กับผู้ผลิตและส่งออกสารเคมีพิษไม่ว่าจะเป็นคลอร์ไพริฟอสหรือไกลโฟเซต เป็นเส้นทางวิบากและหนักหนาสาหัสแม้ในสหรัฐฯเอง  

 

ฉะนั้น ไทยคงต้องเตรียมรับมือกับแรงบีบจากรัฐบาลสหรัฐฯชุดนี้เอาไว้ให้ดี เพราะคงมีมาให้เห็นอีกหลายรูปแบบอย่างแน่นอน