เอกชนชี้ปมสหรัฐตัด GSP ตอบโต้ไทยแบน 3 สารพิษ

26 ต.ค. 2562 | 10:43 น.

เอกชนชี้ปมสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP ตอบโต้ไทยแบนนำเข้า 3 สารเคมี ยันไม่กระทบสินค้าประมงไทยมากจากภาษีนำเข้าไม่ได้สูง ขอดูท่าทีจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศก่อน จากนั้นจะแถลงจุดยืน ด้าน "จุรินทร์"ยังเงียบ ขณะกรมการค้าต่างประเทศเตรียมแถลง 28 ต.ค.

 

นางสาวกัณญภัค  ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวถึงกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในประกาศทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP โดยให้ระงับสิทธิในสินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย ให้เหตุผลว่าไทยยังไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลนั้น ส่วนตัวมองว่าประกาศดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าต้องการจะเจรจาในเงื่อนไขบางอย่างกับไทย

 

ที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ทางสหรัฐฯต้องการให้แก้ไขมาโดยตลอดเช่น ในปี 2561 ไทยขยับอันดับประเทศที่มีการค้ามนุษย์มาอยู่กลุ่มเทียร์ 2 (กลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไข และตรวจสอบการลักลอบค้ามนุษย์อย่างจริงจัง) หลังจากที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 คือ ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2557-2558

 

ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็ประกาศยกเลิกสถานะใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู)ให้แก่ไทยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานของไทยจนได้รับการยอมรับ และหากสินค้าอาหารทะเลของไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเพราะปกติอัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของสหรัฐฯก็ไม่ได้สูงมาก

 

ที่ผ่านมาไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐ ทำให้สหรัฐฯพยายามโจมตีไทยว่าไทยแทรกแซงค่าเงิน(ให้อ่อนค่า)เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ แต่ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมาเงินบาทไทยแข็งค่าทำให้เสียความสามารถในการแข่งจากสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น และภาคเอกชนของไทยก็ได้เรียกร้องมาโดยตลอดว่าต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แทรกแซงและทำให้ค่าเงินของไทยอ่อนตัวลงบ้าง แต่ทางธปท.ก็ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงมองว่าสหรัฐฯ คงไม่พอใจที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ไม่เป็นผล จึงได้มีการออกประกาศดังกล่าว

 

"การที่สหรัฐฯออกมาประกาศในเรื่องดังกล่าวคงต้องการตอบโต้เรื่องที่ไทยห้ามนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรเพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งที่ยังใช้สารเคมีที่ไทยห้ามใช้ และจากการที่ไทยประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของสหรัฐที่ส่งออกมายังไทยด้วย"  

 

 

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลไทยดูท่าทีและเปิดการเจรจากับทางการสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการส่งออกไทย และการเข้าร่วมความตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในอนาคตสหรัฐฯอาจเข้ามาเป็นสมาชิกในความตกลง CPTPP อีกครั้ง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระยะยาว

 

 ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ทางสมาคมได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และขอเวลาศึกษาข้อมูลดังกล่าวก่อนเพราะเอกสารมีความหนาถึง 200 หน้า มีรายละเอียดค่อนข้างมากในแต่ละรายสินค้า อย่างไรก็ตามหากสินค้าประมงของไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเพราะปกติภาษีสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไม่ได้สูงและมองว่าการที่สหรัฐฯออกมาประกาศยกเลิกสิทธิจีเอสพีของไทยเพราะต้องการตอบโต้ในประเด็นที่สหรัฐเรียกร้องให้ทางการไทยทำตามแล้วทางการไทยไม่ให้ ซึ่งทางสมาคมฯขอดูท่าทีจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศก่อน จากนั้นจะแถลงจุดยืนในเรื่องดังกล่าวต่อไป

เอกชนชี้ปมสหรัฐตัด GSP  ตอบโต้ไทยแบน 3 สารพิษ

                              พจน์  อร่ามวัฒนานนท์

 ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางหอการค้าไทยทราบเรื่องที่สหรัฐได้ประกาศตัดสิทธิจีเอสพีต่อไทยแล้ว โดยภาคเอกชนขอเวลาศึกษาในรายละเอียดของคำประกาศดังกล่าวให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะปรับตัวรับผลกระทบดังกล่าวอย่างไร และจะต้องดูว่าผู้ประกอบการที่เข้าข่ายถูกตัดสิทธิเป็นบริษัทของคนไทยหรือประเทศอะไรที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คาดว่าจะทราบผลที่ชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ โดยทางหอการค้าไทย อยากฝากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสหรัฐฯให้เวลาไทย 6 เดือนก่อนถูกตัดสิทธิ อยากให้ทุกหน่วยงาน เร่งเจรจาเพื่อลดผลกระทบให้กับภาคเอกชนด้วย

เอกชนชี้ปมสหรัฐตัด GSP  ตอบโต้ไทยแบน 3 สารพิษ

                                           กลินท์  สารสิน

 

แหล่งข่าวจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ กดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งสหภาพแรงงานได้โดยมีกฎหมายรองรับแต่ไม่สำเร็จนั้นอาจเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯออกมาประกาศยกเลิกสิทธิจีเอสพีไทย เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนของไทยทั้งสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสภาหอการค้าไทยก็ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด

 

และล่าสุดกรณีที่รัฐบาลไทยเตรียมห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ในส่วนนี้สหรัฐฯได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นเหตุให้ออกมาตอบโต้ไทยด้วยการยกเลิกจีเอสพีไทย รวมทั้งท่าทีของภาคเอกชนไทยต่อการเรียกร้องให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งสหภาพแรงงานได้โดยมีกฎหมายรองรับนั้น คณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอกาาค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องเจาะลึกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 และได้ข้อสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับการมีสหภาพแรงงานต่างด้าวเพราะในกรณีที่มีปัญหาต่างๆ ก็มีสิทธิที่ประเทศไทยช่วยเอื้อให้เกิดความยุติธรรมกับแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 มีมูลค่า 2,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 1.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากแยกเฉพาะการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยจะพบว่ามียอดส่งออกถึง 1,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.73% โดยเฉพาะการส่งออกทูน่ากระป๋องและซาร์ดีนกระป๋องช่วงครึ่งปีแรก รวม 1,144.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.58% ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่สหรัฐฯ สัดส่วน 20.66% มีมูลค่า 236.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.43% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 9.23% มูลค่า 105.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 6.07% ออสเตรเลีย สัดส่วน 7.99 % มูลค่า 91.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 12.11% ลิเบีย สัดส่วน 7.74% มูลค่า 88.55 ล้านดอลารร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 201.46% และซาอุดิอาระเบีย สัดส่วน 6.65% มูลค่า 76.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 24.45%

 

เอกชนชี้ปมสหรัฐตัด GSP  ตอบโต้ไทยแบน 3 สารพิษ

                            จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์

ผู้สื่อข่าวยังได้ติดต่อสอบถามไปยังทีมงานของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถึงกรณีที่สหรัฐฯจะตัดจีเอสพีไทยพบว่ายังไม่มีความเคลื่อนไหว แต่ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์รักษาการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะมีการแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยในขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายละเอียดทั้งหมดที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบและการเตรียมการรับมือกับประกาศดังกล่าวของสหรัฐฯ

 

"มงคล"ชี้สหรัฐฯตัด GSP ไม่กระทบประมงไทย
ฝ่ายค้านขย่ม บิ๊กตู่ รับผิดชอบปมตัดสิทธิ์GSP
ชัดแล้ว! 571สินค้าไทยถูกสหรัฐฯตัดGSP
ให้เวลา 6 เดือน ประมงไทยรับมือมะกันตัด GSP
ไม่ตอบสนอง ต่างชาติตั้งสหภาพแรงงาน ข้ออ้างสหรัฐฯตัด GSP ไทย​​​​​​​
Update “ทรัมป์” สั่งตัดGSPไทย 4 หมื่นล้าน​​​​​​​
​​​​​​​