จาก "บกพร่องโดยสุจริต" สู่วาทกรรม "จำไม่ได้"

18 ต.ค. 2562 | 13:00 น.

คอลัมน์คันฉ่องส่องการเมือง  ฐานเศรษฐกิจ  โดย... นาย NO VOTE

 

จาก "บกพร่องโดยสุจริต"

สู่วาทกรรม "จำไม่ได้"

 

     เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ทุกสื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า จงใจซุกซ่อนบัญชีทรัพย์สิน ยื่นทรัพย์สินอันเป็นเท็จ   

     ครั้งนั้น นายทักษิณ ได้ต่อสู้ในชั้นศาลช่วงหนึ่งว่า ..มิได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ แต่ผู้ช่วยหรือเลขานุการของเขาเป็นผู้ดำเนินการแทน หากมีการผิดพลาดในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงความบกพร่องของตนเองโดยมิได้มีเจตนาทุจริต แต่อย่างใด สาเหตุเกิดขึ้นจากการ “บกพร่องโดยสุจริต” ของตน ไม่ควรต้องถูกลงโทษตามรัฐธรรมนูญ    

     เมื่อถึงวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติคำวินิจฉัยกลางในคดีนี้ ผลออกมา 8 ต่อ 7 เสียง ส่งผลให้ นายทักษิณ พ้นผิดในคดีซุกหุ้นไปได้อย่างหวุดหวิด

     วาทกรรม “บกพร่องโดยสุจริต” ของ นายทักษิณ ครั้งนั้นยังคงกึกก้องอยู่ในหูของทุกคนที่ติดตามกรณีดังกล่าว และถูกพูดถึงกันจนถึงปัจจุบัน  

     18 ตุลาคม 2562 “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าอนาคตใหม่ ให้ปากคำต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ เขาอธิบายเหตุการณ์นี้ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนุญว่า..

     วันที่นัดหมายกับทีมงานพรรคว่า จะหาเสียงในวันที่ 8 มกราคมที่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น “จำไม่ได้ว่า ตรงกับวันที่นัดหมายในการโอนหุ้นด้วย เมื่อเสร็จภารกิจหาเสียงจึงวางแผนจะกลับกรุงเทพฯด้วยเครื่องบินหรือรถยนต์ส่วนตัว คำนวณเวลาแล้วใช้เวลาไม่มากไปกว่ากันจึงตัดสินใจเดินทางด้วยรถยนต์

     เมื่อศาลถามว่า ระหว่างเดินทางโทรศัพท์หาใคร หรือมีใครโทรหาหรือไม่นั้น “ธนาธร” ตอบว่า หลับตลอดทางและ “จำไม่ได้” ว่า มีสายเข้าหรือโทรออกหรือไม่ และ “จำไม่ได้”  อีกเช่นกันว่า เซ็นเช็คโอนหุ้นในวันใดเพราะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน

     เมื่อศาลซักถามถึงเงินที่ได้รับจากการโอนขายหุ้นวี-ลัค มีเดีย มีการนำเช็คกว่า 6 ล้านบาทไปขึ้นเงินอย่างไร ธนาธร ก็ตอบอีกเหมือนเดิมว่า “จำไม่ได้แม้จะเป็นเช็คที่มีมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท  ไม่ว่าจะเป็นเช็คใบไหน เซ็นวันไหน เพราะผมมอบหมายให้ภรรยาเป็นผู้จัดการเรื่องการเงินของครอบครัวทั้งหมด”

     ศาลยังได้ซักถามขณะที่ได้รับหุ้นวีลัค-มีเดีย  675,000 หุ้นในปี 2551 ซื้อมาหรือได้มาโดยเสน่หา ธนาธร ตอบว่า “ผมซื้อมาในราคาพาร์ แต่จำไม่ได้ว่าซื้อจากใคร อาจจะเป็นการซื้อหุ้นจากนางสมพร และจำไม่ได้ว่าหลังซื้อหุ้นมาแล้วได้ไปจดแจ้งไปที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือไม่ ส่วนการนัดโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.62 นั้น มีการนัดหมายล่วงหน้านานเท่าไร ผมจำไม่ได้

     เมื่อถูกถามย้ำถึงการจดแจ้งเลิกกิจการบริษัท วี-ลัค มีเดีย  อย่างเป็นทางการ  หัวหน้าพรรคอนาคนใหม่ กล่าวอย่างมีอารมณ์อีกครั้งว่า “จะต้องให้ตอบอีกกี่ครั้งว่าจำไม่ได้”  

     ถัดมาถูกซักถามถึงบัญชีเอกสารที่อ้างส่งศาล ซึ่งไม่มีงบการเงินบริษัท วี-ลัค มีเดีย ธนาธร ตอบอย่างมีอารมณ์ว่า “จำไม่ได้ เพราะเอกสารเยอะมาก...” 

     วาทกรรม “จำไม่ได้” ของ ธนาธร ครั้งนี้ จะส่งผลให้เขารอดพ้นคดีหุ้นสื่อ เหมือนวาทกรรม “บกพร่องโดยสุจริต” ของ ทักษิณ ที่ทำให้รอดพ้นคดีซุกหุ้น มาแล้วหรือไม่ 20 พ.ย.นี้ ได้รู้กัน...