ชิมช้อปใช้เฟส 2 เข้าครม. 22 ต.ค.นี้

16 ต.ค. 2562 | 10:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สศค. เผย เสนอมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ให้รมว.คลังพิจารณาแล้ว ก่อนเสนอครม. 22 ต
ค.นี้ แต่ยังเผยรายละเอียดไม่ได้ แต่หากเห็นชอบพร้อมเปิดลงทะเบียน 23 ต.ค.ทันที เบื้องต้นไม่มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษีแน่ 


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)  ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้เสนอมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และจะเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีในวันที่ 23 ต.ค. ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนเวลาการลงทะเบียนใหม่ เป็นช่วงเวลาทำการ ตั้งแต่เวลา 8.00 น.เป็นต้นไป โดยวิธีการลงทะเบียนจะเป็นแบบเดิม ที่สามารถลงผ่านระบบออนไลน์ และสาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 


สำหรับรายละเอียดมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งจำนวนผู้ลงทะเบียน สิทธิประโยชน์ของผู้ได้รับสิทธิ์ วงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ ซึ่งจะน้อยกว่า 19,000 ล้านบาทที่เคยขอกันงบประมาณไว้ในเฟสแรก  รวมถึงจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ชิมช้อปใช้เฟสแรก แต่ไม่ใช้จ่าย 1,000 บาท ในเวลา 14 วัน จะต้องถูกตัดสิทธิ์การลงทะเบียนรอบ 2 หรือไม่  เนื่องจากต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาก่อน แต่ในเบื้องต้นยืนยัน ไม่มีการลดหย่อนภาษีแน่นอน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชำระภาษีหรือการยื่นข้อมูลทางภาษีให้กรมสรรพากรทั้งสิ้น รวมถึงหากเฟส 2 มีสิทธิประโยชน์ใดๆ เพิ่ม ผู้ที่ใช้สิทธิ์ในเฟสแรก จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวไปด้วย เช่น หากเฟส 2 มีการให้ ผู้ที่ใช้สิทธิ์ในเฟสแรกจะได้รับสิทธิ์แคชแบ็ก 20% ด้วยเช่นเดียวกัน


“เราเสนอไปหลายตัวเลข ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน ยังบอกไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย 3% ได้ แม้มาตรการชิมช้อปใช้จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เฟส 2 ก็จะทำให้วงเงินใช้จ่ายได้มากขึ้น และทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 60,000 ล้านบาทตามที่วางเป้าหมายไว้”นายลวรณ กล่าว

ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้เฟสแรกที่ได้มีการส่ง SMS ยืนยันให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ครบ 10 ล้านรายแล้วนั้น ขณะนี้มีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” แล้ว 9,606,300 ราย โดยมีการยืนยันตัวตนสำเร็จ 9,260,223 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์ครบ 10 ล้านราย แต่ไม่ใช้จ่ายในเวลา 14 วันตามกำหนด มีจำนวน 439,000 ราย ส่วนอีก 340,000 ราย ยังไม่ยืนยันตัวตนเพื่อใช้แอพลิเคชั่นเป๋าตัง


โดยในการใช้จ่ายใน 19 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์ 8,519,390 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,282 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ  82% หรือ 6,793 ล้านบาท และการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงเริ่มต้นมาอยู่ที่ 18% หรือ 1,489 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายกระจายครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ โดยการใช้จ่ายในกรุงเทพฯ คิดเป็นเพียง 13% 
 

ทั้งนี้ เป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,169 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 4,576 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 1,152 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ มียอดใช้จ่าย 96 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปมียอดใช้จ่าย 2,345 ล้านบาท
 

ขณะที่การใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีการใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 36,854 ราย ยอดใช้จ่ายรวม 113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากวันก่อนหน้า หรือเฉลี่ยรายละ 3,066 บาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” 70 ล้านบาท ร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่าย 28 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท ตามลำดับ 


อย่างไรก็ตามยอมรับประชาชนมีการใช้จ่ายกระเป๋า 2 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะมีสาเหตุมาจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีกระเป๋า 2  ประกอบกับการใช้เงินในกระเป๋า 2 จะใช้ได้ต่อเมื่อเงินในกระเป๋า 1 หมด ซึ่งระยะเวลาการใช้กระเป๋า 1 ยังมีอยู่ และการเติมเงินกระเป๋า 2 ยังใช้ยาก ดังนั้น สศค.อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับการเติมเงินกระเป๋า 2 ให้สามารถเติมผ่านระบบ ATM ได้