ชาวสวนยางเฮ ครม.ไฟเขียวประกันรายได้

15 ต.ค. 2562 | 08:28 น.

ครม.ไฟเขียวโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง พร้อม​ 4 โครงการเร่งแปรรูป-ดูดซับปริมาณยางในระบบ​ ยกระดับราคายางพารา

 

ดร.รัชดา​ ธนาดิเรก​ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ แถลงผลการประชุมครม.ว่า​ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ตามที่คณะกรรมการการยางไทย(กยท.)​เสนอที่มี​ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์​ รองนายกรัฐมนตรี​ เป็นประธาน

รัชดา​ ธนาดิเรก​

ทั้งนี้​ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง  ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1.4 ล้านคน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่

 

โครงการประกันรายได้เกษตรกร ระยะที่ 1 กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ไว้ที่ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยประกันรายได้ในยาง 3 ชนิด คือ 

1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี       ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 

2.น้ำยางสด (DRC 100%)    ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม 

3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%)  ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้  240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก.ไร่/เดือน 

 

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางไทยกำหนด โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว สูงสุดรายละไม่เกิน 25 ไร่

 

การจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกำหนดจ่ายให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดจ่าย  2 เดือน  1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง  ดังนี้

 

1.ประกันรายได้เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2562   
  จ่ายงวดที่หนึ่ง ระหว่างวันที่  1 - 15 พฤศจิกายน 2562

 

2.ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563   
  จ่ายงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1 - 15 มกราคม 2563

 

3.ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์  – มีนาคม 2563   
  จ่ายงวดที่สาม ระหว่างวันที่  1 - 15 มีนาคม 2563

 

การแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60 %และคนกรีดยาง40%

 

ทั้งนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดๆ ไป ตามความเหมาะสม เพื่อชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นจริง

 

พร้อมกันนี้ยังมีมติเห็นชอบอีก​ 4  โครงการ​ ประกอบด้วย

 

1.ขยายวงเงินสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ปะกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อของโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางในการขยายกำลังผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม เป็นต้น ให้มีการแปรรูปจากเดิมปีละ 60,000 ตัน ต่อปี เป็น 100,000 ตันต่อปี  ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2563 – 2569 

 

2.ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางแห้ง  วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564  ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้  

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1)ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นใกล้เคียงหรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (2)ลดภาระงบประมาณการจัดซื้อยางและการบริหารจัดการสต็อกยางพาราจากรัฐบาล และ (3)ช่วยดูดซับยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง 3.5 แสนตัน จากผลผลิตยางแห้งทั้งปีประมาณ 3.2 ล้านตัน   ผ่านกลไกการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการยางแห้ง

  

3.ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท  ออกไปอีก 4 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2567 โดยมีระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2566 และกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้คราวละไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่กู้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2567 

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับสหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสหากิจชุมชนที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง

 

4.ขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ออกไปอีก 3 ปี คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2565 และให้มีการปรับปรุง  โดย 

1.แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อกำกับดูแล ซึ่งจากเดิมเป็นคณะกรรมการภายในของการยางแห่งประเทศไทย 

2.กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราหรือผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มาจาก  (1)เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือ (2) กยท. จัดซื้อจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง หรือ (3) ยางพาราของรัฐที่ กยท. เก็บรักษาไว้  จากเดิมที่กยท.จะเป็นผู้รับซื้อตามที่หน่วยงานต่างๆต้องการ

 อีกทั้ง ยังเห็นชอบงบประมาณ ค่าบริหารจัดการโครงการ จำนวน 1.5 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ประชุมคณะกรรมการ และการติดตามการดำเนินงาน 

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1)เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ โดยคิดเป็นปริมาณน้ำยางสด จำนวน 1 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการ 3 ปี  (2)กระตุ้นให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียางพาราเป็นส่วนผสมมาใช้ประโยชน์ในการบริการสาธารณะมากขึ้น (3)เพิ่มรายได้ให้รายได้ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง